ปักกิ่งลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ลงถึง53% ได้ตามเป้า5ปี เซี่ยงไฮ้ก็ด้วย
ปักกิ่งลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 – ซินหัว รายงานว่า ทางการกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เปิดตัวเลขการลดความหนาแน่นของฝุ่นพีเอ็ม2.5 (PM2.5) ในปักกิ่ง ว่าลดลงร้อยละ 53 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (ค.ศ.2016-2020 หรือ พ.ศ.2559-2563)
ข้อมูลที่เผยแพร่ ณ ที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนเทศบาลนครปักกิ่ง ชุดที่ 15 ครั้งที่ 4 วันที่ 23 ม.ค. ระบุว่าความหนาแน่นของฝุ่นพีเอ็ม2.5 ในปักกิ่งลดลงเกินครึ่งในปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2015 ทำให้ปักกิ่งเป็นพื้นที่ที่มีฝุ่นพีเอ็ม2.5 หนาแน่นต่ำสุดและลดลงชัดเจนสุดในภูมิภาคปักกิ่ง–เทียนจิน–เหอเป่ย
ความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่นพีเอ็ม2.5 ในปักกิ่งอยู่ที่ 38 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2020 ลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบปีต่อปี และทำสถิติต่ำสุดนับตั้งแต่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งแรกในปี 2013
คุณภาพอากาศในปักกิ่งดีขึ้นจนเข้าใกล้มาตรฐานการควบคุมฝุ่นพีเอ็ม2.5 ระดับ 2 ของประเทศ ซึ่งกำหนดความเข้มข้นเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นอกจากนั้นปักกิ่งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลงกว่าร้อยละ 23 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ปักกิ่งวางแผนปลูกต้นไม้ 10,000 เฮกตาร์ (ราว 62,500 ไร่) ในปี 2021 เพื่อเพิ่มพูนความครอบคลุมของป่าไม้ทั่วเมืองให้อยู่ที่ราวร้อยละ 45 ภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า
ทางการกรุงปักกิ่งแสดงคำมั่นเดินหน้าความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านการควบคุมมลพิษทางอากาศ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะอย่างฝุ่นพีเอ็ม2.5 ก๊าซโอโซน สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ในปี 2021
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 15 ม.ค. นครเซี่ยงไฮ้ ทางตะวันออกของจีน ก็แถลงผลการจัดการอากาศให้มีคุณภาพอากาศดียิ่งขึ้นหลังจากการปล่อยมลพิษลดต่ำลงอย่างมาก
เฉิงเผิง หัวหน้าสำนักนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า “เซี่ยงไฮ้รักษาอัตราการเติบโตของประชากร เศรษฐกิจ และการบริโภคพลังงานรวมไว้ได้ โดยการปล่อยมลพิษประเภทหลักลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศพัฒนาขึ้น”
การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ของเซี่ยงไฮ้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 46.6 และร้อยละ 28.2 ตามลำดับ ซึ่งสูงเกินเป้าหมายที่รัฐบาลกลางตั้งไว้
ความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ของเซี่ยงไฮ้ในปี 2020 อยู่ที่ 32 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่ำลงร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับปี 2015 และต่ำกว่าสถิติปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เซี่ยงไฮ้ยังควบคุมการใช้ถ่านหินอย่างเข้มงวด พร้อมส่งเสริมการซื้อยานยนต์พลังงานใหม่ 364,000 คัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนถ่านหินในการใช้พลังงานขั้นต้นลดลงจากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 31
ไป๋กัวเฉียง หัวหน้าวิศวกรของสำนักฯ ระบุว่าเซี่ยงไฮ้จะเดินหน้าลดความเข้มข้นของพีเอ็ม 2.5 และโอโซนต่อไป โดยมุ่งลดการปล่อยมลพิษในภาคพลังงาน อุตสาหกรรม และการคมนาคมขนส่งเป็นหลัก หลายเมืองในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีจะยกระดับความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศในภูมิภาค
นอกจากนี้เซี่ยงไฮ้ยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น โดยอัตราความครอบคลุมของผืนป่าอยู่ที่ร้อยละ 18.49 และมีพื้นที่ชุ่มน้ำ 2.9 ล้านไร่ เมื่อนับถึงสิ้นปี 2020
เซี่ยงไฮ้ซึ่งมีประชากรกว่า 24 ล้านคน สร้างที่อยู่อาศัยให้สัตว์ป่าสำคัญ 20 แห่ง ฟื้นฟูหรือสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเกือบ 2,625 ไร่ พร้อมจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง ระหว่างปี 2016-2020