นัดหยุดงานอีกอาชีพ กลุ่ม ครูเมียนมารวมตัว ต้านรัฐประหาร ขอไม่ทำงานรับใช้ทหาร พร้อมชูสามนิ้ว ผูกริบบิ้นสีแดง และถือป้ายประท้วง

AP

เมื่อวันที่ 5 ก.พ.64 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า กลุ่มอาชีพครูในเมียนมา เป็นกลุ่มอาชีพล่าสุดที่เข้าร่วมการรณรงค์อารยะขัดขืน โดยมีครูชาวเมียนมาจำนวนมากปฏิเสธที่จะทำงานหรือให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางการ เพื่อเข้าร่วมประท้วง ต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา

การรณรงค์อารยะขัดขืนเพื่อประท้วงรัฐประหาร เริ่มต้นขึ้นในกลุ่มอาชีพแพทย์และพยาบาล ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากรัฐประหารเพียงไม่นาน ต่อมาการรณรงค์อารยะขัดขืนและเดินขบวนประท้วงได้ถูกแพร่กระจายไปยังกลุ่มนักศึกษา กลุ่มเยาวชน และแรงงานบางส่วน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

โดยในการรณรงค์ประท้วง จะมีการติดหรือผูกริบบิ้นสีแดง และ ถือป้ายประท้วง ซึ่งในวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. 64 กลุ่มอาชีพครูและอาจารย์จำนวนมาก ได้มารวมตัวกันประท้วงที่หน้าอาคารเรียนของมหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งย่างกุ้ง

AP

อาจารย์ นเว ทาซิน ฮเลียง กล่าวว่า “เราไม่ต้องการให้กองทัพทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ เราจะไม่ทำงานกับพวกเขาอีกต่อไป เราต้องการให้การรัฐประหารของกองทัพล้มเหลว”

ฮันนี่ ลวิน อาจารย์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เรามีเป้าหมายที่จะล้มระบบการบริหาร ด้วยวิธีการหยุดงานประท้วงอย่างสงบ”

กลุ่มอาชีพครูและอาจารย์จำนวนมาก รวมถึงผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารกองทัพเมียนมา ใช้สัญลักษณ์ในการประท้วง ด้วยการชูนิ้วสามนิ้วขึ้น โดยให้ฝ่ามืออยู่สูงกว่าลำตัว ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าว มาจาก ภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประท้วงหลายประเทศในทวีปเอเชีย ที่ต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ ได้นำสัญลักษณ์ดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลาย

ทั้งนี้ ถือว่าการประท้วงมีผู้เข้าร่วมเป็นสัดส่วนที่สูง หากพิจารณาจากสัดส่วนของเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาการศึกษาแห่งย่างกุ้ง ซึ่งมีจำนวนราว 246 คน ในมหาวิทยาลัย ในจำนวนนี้ มีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประท้วงมากถึง 200 คน นอกจากนี้ยังมีรายงานการประท้วงในลักษณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัยดากอง ในย่างกุ้ง และที่อื่น ๆ อีกเช่นกัน

AP

การต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นในกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์และครูอาจารย์นั้น ดำเนินไปพร้อมกับการประท้วงที่มีลักษณะเป็นทางการน้อยกว่า ของประชาชนทั่วไป ทั้งในรูปของการตีกระป๋องและหม้อกระทะ รวมไปถึงการบีบแตรรถ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐประหาร

ไม่เพียงแต่ในย่างกุ้งเท่านั้น ในวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. 64 เมืองทวาย ซึ่งเป็นเมืองหลักของเขตตะนาวศรีทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมา ก็มีกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารจำนวนมากเข้าร่วมการเดินขบวน รวมถึงขบวนต่อต้านในรูปแบบรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีผู้ประท้วงคนหนึ่ง กล่าวว่า “กลุ่มจากเมืองทวาย ขอประกาศ เริ่มการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ทวาย เราขอเรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมและยืนหยัดกับเรา”

ทั้งนี้การประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในเมียนมาและการเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น มีมาโดยตลอด ในปี พ.ศ.2531 เกิดการลุกฮือที่เริ่มต้นจากนักศึกษาในเมืองย่างกุ้ง โดยการประท้วงในครั้งดังกล่าว ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมนับแสนคน รวมถึง พระภิกษุ เยาวชน นักศึกษา แพทย์ ฯลฯ ออกมาประท้วงต่อต้านระบอบการปกครองเผด็จการ แต่รัฐบาลได้มีคำสั่งให้สลายฝูงชนด้วยอาวุธ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก คาดว่ามีผู้เสียชีวิตและสูญหายหลายหมื่นคน ต่อมาในปี พ.ศ.2550 เกิดการประท้วงรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการได้เข้าสลายการชุมนุมและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก คาดว่ามีผู้เสียชีวิตราว 3000 คน

AP

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน