นายพล มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา ปล่อยตัวนักโทษ 23,314 คน โดยรวมถึงชาวต่างชาติจำนวน 55 คน หลายฝ่ายหวั่น จงใจใช้ปะทะม็อบ

เมียนมา เริ่มปล่อยตัวผู้ต้องขังหลายหมื่นคนในวันศุกร์ (12 ก.พ. 64) หลังจากมีการประกาศนิรโทษกรรมซึ่งเป็นการปล่อยตัวครั้งใหญ่ครั้งแรกภายใต้รัฐบาลทหารชุดใหม่ที่ทำการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน

นายพล มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหาร ประกาศว่า การนิรโทษกรรมนักโทษจำนวน 23,314 คน ได้รับการนิรโทษกรรม ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันสหภาพปีที่ 71 ของเมียนมา โดยผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว ยังรวมถึงชาวต่างชาติจำนวน 55 คน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีนักโทษการเมืองจำนวนกี่คนที่ได้รับการปล่อยตัวภายใต้การนิรโทษกรรม

นอกจากกองทัพเมียนมาได้ระบุว่า โทษจำคุกตลอดชีวิตจะลดลงเหลือเพียงโทษจำคุก 40 ปี ส่วนโทษจำคุกที่สูงกว่า 40 ปี จะลดลงเหลือสูงสุดที่ 40 ปี และ โทษจำคุก 40 ปี และโทษที่ต่ำกว่า 40 ปี จะถูกลดโทษให้สั้นลงเหลือเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น

AFP

การนิรโทษกรรมครั้งนี้ นับเป็นการนิรโทษกรรมครั้งแรก โดยรัฐบาลทหารที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่นำโดย นาง อองซานซูจี ในการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 แต่ประชาชนยังไม่มั่นใจ

เช่น นายเทย์ซาร์ ซาน นักศึกษาในเมืองมัณฑะเลย์ กังวลว่ากองทัพเมียนมาปล่อยตัวนักโทษหวังโจมตีผู้ประท้วง โดยมีตัวอย่างจากการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2531 ตอนนั้นรัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวนักโทษ ทหารออกมาปราบปรามการประท้วงอย่างสันติ

ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม เข้าจับกุมประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และ ข้าราชการจำนวนมากที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ด้วยการเดินขบวนอย่างสันติ

Reuters

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน