ชาวเมียนมาจำนวนไม่น้อย เชื่อ ถึงเวลา ‘จับอาวุธ’ กองทัพทหารไม่มีทีท่าว่าจะหยุดสังหารหมู่ โดยหวังว่ารัฐบาลกลางจัดตั้งกองทัพเร็ว ๆ นี้ บางส่วนเข้าฝึกกับ KNU

Myanmar, March 27, 2021. REUTERS/Stringer

เมื่อวันที่ 30 มี.ค.64 สำนักข่าว Myanmar Now รายงานว่า มีประชาชน ‘จำนวนหนึ่ง’ ในเมียนมา เชื่อว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้ว ที่ประชาชนจะลุกขึ้น จับอาวุธ สู้กับกองทัพเมียนมา เนื่องจากประชาชนส่วนนี้เชื่อว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน แม้พยายามหลีกหนี ก็มีแต่จะต้องบาดเจ็บล้มตายอยู่ดี ถ้าหากได้สู้ถึงตาย แล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ก็อาจดีกว่า

เส้นทางที่ไม่อาจหันหลังกลับ

โก ซอง (นามสมมติ) นักศึกษาเยาวชน ชาวมัณฑะเลย์ วัย 24 ปี ซึ่งกำลังเรียนจบหลักสูตรการศึกษาทางไกลจากมหาวิทยาลัยยาดานาบอน และทำงานในธุรกิจของพ่อแม่ เขาเป็นหนึ่งในประชาชนทั่วประเทศที่เข้าร่วมการประท้วง หลังจากที่กองทัพยึดอำนาจในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เขาและสมาชิกคนอื่น ๆ ในสหภาพนักศึกษาของเขา ถือเป็นแนวหน้าของการต่อสู้กับรัฐบาลทหารที่เข้ามายึดอำนาจพลเรือน

Naypyitaw, Myanmar, March 27, 2021. REUTERS/Stringer

ในช่วงแรก กองกำลังของรัฐบาลทหาร ใช้แก๊สน้ำตากับฝูงชนที่ต่อต้านรัฐประหาร และต่อมากองทัพก็ใช้กระสุนจริง ขณะนี้เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว ที่ พลเอก มิน อ่อง หล่าย ผู้นำระดับสูงสุดของเมียนมา ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประเทศ และยังคงดำเนินการสังหารประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อน ในแต่ละสัปดาห์ มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นอีก การสังหารโหดเหล่านี้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กหรือเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์

Yangon, Myanmar March 27, 2021. REUTERS/Stringer

ประชาชนมีเพียงอาวุธที่ทำจากวัสดุทั่วไป เช่น หนังยางดีดหิน ปินประดิษฐ์ ธนู โล่ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเอง และค็อกเทลโมโลตอฟ โก ซอง และพรรคพวก รู้ดีว่าอาวุธประดิษฐ์เหล่านี้ ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้เลย กับกองกำลังติดอาวุธที่มีอาวุธสงครามร้ายแรง และมีใบอนุญาตให้สังหารโหดอย่างไร้ความปรานี

Yangon, Myanmar March 28, 2021. REUTERS/Stringer

นั่นคือเหตุผลที่ โกซองและเพื่อน ๆ ของเขา ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องได้อาวุธจริงมาเป็นของตัวเองและเรียนรู้วิธีการใช้งาน และเพื่อที่จะทำเช่นนั้นได้ พวกเขาจึงเดินทางไปยังพื้นที่แถบชายแดน ซึ่งเป็นถิ่นของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เคยต่อสู้กับชาวเมียนมา มานานหลายทศวรรษ

“เราไม่สามารถแค่ประท้วงและโยนค็อกเทลโมโลตอฟได้” โกซอง อธิบายว่าเหตุใดเขาและคนอื่น ๆ อีกหลายร้อยคน จึงเดินทางออกจากเมืองด้วยความหวังว่าจะหาวิธีต่อสู้กับผู้กดขี่ที่มีอาวุธและอำนาจครบมือ

Reuters

สูญเสียแต่จะไม่สูญสิ้น

สำหรับคนหนุ่มสาวชาวเมียนมาจำนวนมาก ระบอบการปกครองที่ไม่สนใจชีวิตมนุษย์โดยสิ้นเชิง คือสิ่งที่กระตุ้นความปรารถนาของพวกเขา พวกเขาพร้อมเอาชนะในทุกหนทางที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะ ผู้ที่ได้เห็นฉากการสังหาร หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และมีประสบการณ์ มักจะแน่วแน่อย่างมาก ไม่ว่าจะสูญเสียอะไรก็ตาม

หมิน หมิน เยาวชนอายุ 24 ปี จากเมืองย่างกุ้ง ถูกยิงถึง 2 ครั้ง ในการโจมตีของกองทัพที่ เขตไลง์ตายา ซึ่งถูกประกาศเป็นเขตสงครามและมีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน เขาถูกกระสุนยางสองนัดพุ่งเข้ามาที่ใต้ข้อมือ

Mandalay, Myanmar March 23, 2021. REUTERS/Stringer

เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งเขาเห็นคนอื่น ๆ อีกมากมายที่มีบาดแผลร้ายแรงกว่าตัวเขาเอง บางคนถูกยิงที่ตา ในขณะที่บางคนบาดเจ็บสาหัส เช่น มีอวัยวะภายในทะลักออกมานอกร่างกาย เขากล่าวว่า โรงพยาบาลเต็มไปด้วยเสียงครวญครางของประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของคนที่พวกเขารัก

หมินหมินบอกว่า เขาจะไม่มีวันลืมความทุกข์ครั้งใหญ่ทั้งของตัวเองและคนอื่น ๆ ที่เขาประสบในวันนั้น แม้ว่าวันนั้นเขาจะหมดสติไปเป็นเวลานานก็ตาม

Reuters

ปัจจุบันเขายังคงรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บ เขากล่าวว่า หากเขาอาการดีขึ้นเมื่อใด เขาพร้อมจะเข้ากับร่วมกองทัพรัฐบาล และเขายินดีที่จะเข้าร่วมกับกองทัพใดก็ได้ที่ต่อต้านกองทัพเมียนมา เพราะเขาอยากให้กองทัพเมียนมารู้สึกเจ็บปวดเหมือนที่ประชาชนถูกกระทำอย่างโหดร้าย

“สักวันหนึ่ง หากกองทัพของประชาชนถูกจัดตั้งขึ้น ฉันจะเข้าร่วม ฉันคงชอบยิงคนเหล่านี้ ฉันต้องการตอบโต้ ฉันจะไม่มีวันปล่อยความรู้สึกนี้ไป” หมิน หมิน พูดด้วยน้ำเสียงคับแค้น ในขณะที่เขากำลังนอนหงายหมดแรงด้วยความเจ็บปวด

ไม่มีเส้นทางใดที่ง่ายดาย

การเข้าถึงกองทัพชาติพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจาก ทางการของเมียนมาได้ตั้งด่านตรวจ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต่อต้านรัฐประหาร หลุดรอดออกจากพื้นที่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร ผู้ใดก็ตามที่เดินทางไปยังพื้นที่ชายแดน เป็นไปได้สูงว่าจะถูกสอบปากคำและตรวจค้นยานพาหนะอย่างละเอียด

ที่ผ่านมา มีการจับกุมประชาชน แม้กระทั่งบนทางหลวงสายหลักระหว่างเมืองใหญ่ ๆ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 64 หนังสือพิมพ์ของกองทัพเมียนมา อ้างว่าเยาวชน 14 คน รวมทั้งสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ถูกจับกุมตัว บนทางหลวงย่างกุ้ง-เนปิดอว์ ขณะที่พวกเขากำลังเดินทางไปทางเหนือ เพื่อรับการฝึกทางทหารจากกองกำลังผู้ก่อความไม่สงบ

กองกำลัง KNU

แต่ความลำบาก ไม่สามารถขัดขวางพวกเขา ชาวเมียนมาที่มุ่งมั่นต่อสู้เพื่อเสรีภาพจำนวนมาก ยอมเสี่ยง เดินทางออกจากถิ่นอาศัย เพื่อไปเข้าร่วมยังกองทัพตามเขตชายแดน เนื่องจากพื้นที่ในเมืองส่วนใหญ่กลายเป็นเขตสงครามไปแล้ว “แน่นอนว่า ถ้าคุณออกไปตามถนนในตอนนี้ และกล่าวคำที่ต่อต้านรัฐประหารออกมา คุณจะถูกยิงในทันที” เยาวชนคนหนึ่งจากเมืองดากองใต้ กล่าว เยาวชนคนนี้ เป็นอีกคนที่ทุ่มชีวิตของตนเอง เพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์

เยาวชนในเมืองจำนวนมาก มุ่งความสนใจในการเข้าร่วมไปที่ กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศไทย แม้ว่า KNU จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างแนวร่วมประชาธิปไตยของนักเรียนนักศึกษาพม่าในเหตุการณ์ปี พ.ศ.2531 แต่ KNU ระบุว่า กลุ่มของตน สนับสนุนให้ชาวเมียนมาที่ต้านรัฐประหารในครั้งนี้ ปักหลักต่อสู้จากถิ่นอาศัยในเมืองอยู่ภายในประเทศจะดีกว่า

กองกำลัง KNU / Asia Times

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.64 สำนักข่าว Karen News รายงานว่า ปาโดห์ ซอว ทาเมียน ตุน สมาชิกถาวรของคณะกรรมการบริหารส่วนกลางของ KNU แนะนำว่า เนื่องจากการเข้าถึงพื้นที่ชายแดนทำได้ยากขึ้น ชาวเมืองที่ยังอายุน้อย ควรใช้รูปแบบการต่อต้านจากถิ่นอาศัยที่คุ้นเคยของตนเอง

โดยระบุว่า “ผู้ที่อยู่ในเขตเมืองควรอยู่ในเขตเมือง นี่คือยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี พวกเขาน่าจะทำได้ พวกเขาต้องเรียนรู้วิธีการต่อสู้ในเมือง”

ชาวเมียนมาพร้อมเข้าร่วมหากรัฐบาลกลางจัดตั้งกองทัพ

คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา (CRPH) ซึ่งจัดตั้งโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมา ได้เสนอทางเลือก ในการจัดตั้ง กองทัพของรัฐบาลกลางที่รวมกองกำลังทั้งหมด ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและระบอบการปกครองของรัฐบาลทหาร

CRPH ได้วางแนวคิดในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารไว้ โดยกำหนดแผนการป้องกันตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปจนถึงระดับเมือง หลังจากเผยแพร่แถลงการณ์แล้ว ก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการความมั่นคงในหลายพื้นที่ของประเทศ

CRPH

ออง ออง สมาชิกพรรค NLD วัย 25 ปี ซึ่งเข้าร่วมใน CRPH เปิดเผยว่า มีคนจำนวนมากที่กระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม “ถ้ามีการจัดตั้งกองทัพของรัฐบาลกลาง ฉันคิดว่ามีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่พร้อมเข้าร่วม เพราะพวกเขากระตือรือร้นมาก” เขากล่าว

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน CRPH ยังคงเจรจากับองค์กรติดอาวุธทางชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึง KNU เพื่อจัดทำแผนอย่างละเอียด ในฐานะที่กองกำลังชาติพันธุ์เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพเมียนมา

Demonstrators carry placards during a protest against the military coup in Mandalay, Myanmar, 11 March 2021. Anti-coup protests continue in Myanmar amid intensifying violent crackdowns on demonstrators by security forces. EPA-EFE/STRINGER

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซิน มา อ่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ยังมีประเด็นในแผนการปฏิบัติการ ที่ต้องได้รับการปรับแก้ โดยขณะนี้แผนการคืบหน้าไปกว่า ร้อยละ 80 แล้ว

นอกจากนี้ สำนักข่าวบีบีซี ได้สัมภาษณ์ ปาโดว ซอว หมาน หมาน โฆษกของ KNU ซึ่งเปิดเผยว่า
“CRPH จำเป็นต้องมีแผนทางการเมืองที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์สามารถไว้วางใจได้ในกองทัพรัฐบาลกลางได้ หาก CRPH สามารถเป็นผู้นำได้ ก็ควรทำ ถ้าไม่เช่นนั้น พวกเรากองกำลังติดอาวุธทางชาติพันธุ์อาจจะจัดตั้งกองทัพร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบที่เราเคยมีมาในอดีต” เขากล่าว

Padoh Mahn Mahn โฆษก KNU

อย่างไรก็ตาม โก ซอง ซึ่งขณะนี้ได้รับการฝึกทางทหารจากกองทัพชาติพันธุ์ เห็นว่า CRPH จำเป็นต้องเข้าถึงคนหนุ่มสาว เช่น เปิดรับราชการในกองทัพของรัฐบาลกลาง แต่จนถึงขณะนี้ แถลงการณ์ของ CRPH เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทัพของรัฐบาลกลางยังไม่มีเนื้อหาที่สมบูรณ์ โดย โก ซอง ระบุว่า “จนถึงตอนนี้ แนวทางของ CRPH ยังแทบจับต้องไม่ได้ เราไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้นำกองทัพ เราไม่รู้ว่าจะระดมพลได้อย่างไร ดังนั้นฉันจึงยังไม่ไว้วางใจพวกเขา” โก ซอง กล่าวอย่างห้วนๆ

(ชื่อบุคคลทั้งหมดในบทความนี้ ถูกเปลี่ยน เพื่อปกป้องแหล่งที่มา และ อัตลักษณ์ที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน