เปิดผลการศึกษา ซิโนแวค ในจนท.ทางการแพทย์ ในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ทั้งนี้ การทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ของซิโนแวค ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปทั่วโลก

REUTERS/Willy Kurniawan/File Photo

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.64 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค ไบโอเทค ของจีน มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 98 ในการป้องกันการเสียชีวิต และร้อยละ 96 ในการป้องกันการเกิดอาการรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยผลการศึกษาดังกล่าว ไม่ได้เป็นผลการศึกษาในกลุ่มประชาชนทั่วไป แต่เป็นการศึกษาผลจาก กลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ชาวอินโดนีเซีย ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซิโนแวต ไบโอเทค ของจีน

ปัญจี เดวันทารา หัวหน้านักวิจัยและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เปิดเผย ในการบรรยายสรุปในวันพุธ (12พ.ค.64) ว่าการศึกษานี้เป็นการสำรวจข้อมูลของบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 120,000 คน ใน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้รับวัคซีนระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564

REUTERS/Ajeng Dinar Ulfiana

การทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ของซิโนแวค ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปทั่วโลก แต่เมื่อทดลองกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในกรุงจาการ์ตา พบว่า สามารถป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อแสดงอาการ ร้อยละ 94 ของกลุ่มทดสอบที่เป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ซิธี นาเดีย ทาร์มิซี เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าว ว่า “เราเห็นข้อมูลจากหน่วยงาน รายงานว่าอุบัติการณ์ของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีแนวโน้มลดลง”

ข้อมูลจากสมาคมการแพทย์แห่งอินโดนีเซีย ระบุว่า จำนวนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงอย่างมาก นับตั้งแต่มีการเริ่มฉีดวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของอินโดนีเซียที่เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

REUTERS/Ajeng Dinar Ulfiana

ในเดือนมกราคม 64 มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จำนวน 64 คน เสียชีวิต เนื่องจากโรคทางเดินหายใจและโควิด-19 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุด นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 แต่ตัวเลขดังกล่าว ลดลงครึ่งหนึ่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ และมีผู้เสียชีวิต 8 คน ในเดือนเมษายน 64

ก่อนหน้าการเก็บข้อมูลในครั้งนี้ มีการทดลองวัคซีนซิโนแวคระยะที่ 3 ในอินโดนีเซีย ซึ่งพบว่าวัคซีนได้ผล ร้อยละ 65 การทดลองในตุรกีพบว่าได้ผลร้อยละ 91.25 ในขณะที่นักวิจัยในบราซิล ระบุว่ามีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 50.4 ในการป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ซิโนแวคจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ในผู้ใหญ่ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี แต่ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ปัจจุบันยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของผลข้างเคียงของที่ร้ายแรงจากการใช้วัคซีนซิโนแวค

REUTERS/Willy Kurniawan/File Photo

อินโดนีเซียได้พยายามผลักดันอย่างหนัก ในการสร้างข้อตกลงวัคซีน เพื่อฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน อินโดนีเซียยังคงต้องพึ่งพาวัคซีนของจีนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากปัญหาอุปทานทั่วโลก

กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ฉีดวัคซีนเกือบ 9 ล้านคน แล้ว โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวน 181 ล้านคน ภายในเดือนมกราคม 2565

อินโดนีเซียประสบปัญหาผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วมากกว่า 1.7 ล้านคนและเสียชีวิต 45,090 คน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดในครั้งนี้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอิสระ ลาปอร์ โควิด ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดเผยข้อมูลโควิด-19 ในอินโดนีเซีย ระบุว่า ตั้งแต่เกิดการระบาด จนถึง วันที่ 22 เมษายน 64 มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ชาวอินโดนีเซีย ไม่ต่ำกว่า 900 คนเสียชีวิตจากโควิด-19

REUTERS/Ajeng Dinar Ulfiana

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน