โควิด สิงคโปร์-ไต้หวันพุ่ง นักวิเคราะห์รุมถอดบทเรียน ทำไมจู่ๆ แตกได้

โควิด – วันที่ 20 พ.ค. บีบีซีรายงานบทวิเคราะห์สถานการณ์เพลี่ยงพล้ำในสิงคโปร์และไต้หวัน พื้นที่ 2 แห่ง ที่ได้รับคำชื่นชมจากประชาคมโลกในฐานะหนึ่งในผู้ที่รับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ได้ยอดเยี่ยม แต่ล่าสุด ทั้งสองพื้นที่กลับพบการระบาดระลอกใหม่และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความมึนงงให้ผู้เชี่ยวชาญ

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสิงคโปร์และไต้หวันมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดเดือนพ.ค. โดยพบติดเชื้อใหม่ 248 และกว่า 1,200 คน ตามลำดับ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะแลดูเป็นตัวเลขที่น้อย แต่กับสัดส่วนประชากรของทั้งสองพื้นที่แล้วถือว่า “งานหยาบ” มาเยือน

ไต้หวัน แข็งนอก อ่อนใน

ไต้หวันเป็นหนึ่งในห้าพื้นที่ของโลกที่ประกาศห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้า หลังทางการจีนประกาศว่ามีการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งปัจจุบัน มาตรการนี้ยังคงบังคับใช้อยู่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลิน เซียน-โฮ มหาวิทยาลัยแห่งไต้หวัน ระบุว่า สถานการณ์ท้องถิ่นภายในไต้หวันนั้นทั้งรัฐบาลและประชาชนต่างพากันผ่อนคลายมาตรการลง โรงพยาบาลไม่ได้ตรวจเชิงรุกมากเท่าสมัยก่อน ไม่แม้แต่กับบุคคลที่มีไข้

เว็บไซต์ Our World in Data ระบุว่า การตรวจหาผู้ติดเชื้อของไต้หวันอยู่ที่ประมาณ 0.57 ครั้งต่อประชากร 1 พันคนเท่านั้นช่วงกลางเดือนก.พ. 2564 เทียบกับสิงคโปร์อยู่ที่ 6.21 และอังกฤษ 8.68 ต่อพันคน

ผศ.นพ.หลิน กล่าวว่า ทุกคนพากันคิดเอาเองว่าแม้แต่คนที่เป็นไข้ก็คงไม่ใช่โควิด เพราะโอกาสที่จะมีโควิดในไต้หวันนั้นเป็นศูนย์ เนื่องมาจากความเชื่อว่าไวรัสจะไม่สามารถหลุดข้ามมาตรการเข้มข้นด้านพรมแดนของไต้หวันเข้ามาได้

“บรรดาหมอก็เหมือนกันครับ ไม่มีใครมองว่าอาการไข้เป็นเรื่องใหญ่อีกต่อไป ไม่มีใครแจ้งทางโรงพยาบาล ไม่มีใครไปหาแหล่งที่มา ทุกคนเป็นสุขและผ่อนคลายกันหมดครับ” นพ.หลิน ระบุ

สอดคล้องกันกับมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาลไต้หวันต่อบรรดานักบินที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ลดการกักตัวจาก 14 เหลือ 5 และล่าสุดเหลือเพียง 3 วันเท่านั้น

โควิด

ไม่นานต่อมาจึงเกิดกลุ่มก้อนการระบาด (คลัสเตอร์) ใหม่ จากเหล่านักบินจีน มิหนำซ้ำผลการตรวจออกมาภายหลังว่าเป็นชนิดกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ (สายพันธุ์เคนท์) หรือบี.1.1.7 ซึ่งมีความสามารถในการระบาดสูงกว่าชนิดดั้งเดิม ลุกลามเข้าไปถึงสถานบันเทิงของชาวไต้หวัน

นพ.หลิน กล่าวว่า “สถานบันเทิงอ่ะครับ คนก็ร้องเพลง ดื่มกิน เบียดเสียดกันอยู่ในสถานที่ปิด แล้วก็ไม่ใช่ร้านเดียวนะ แต่หลายร้านที่อยู่บนถนนสายนั้นทีเดียวพร้อมๆ กัน กลายเป็นซูเปอร์ สเปรดเดอร์”

ศาสตราจารย์เฉิน เจี้ยน-เจินนักระบาดวิทยา และอดีตรองประธานาธิบดีไต้หวัน ระบุว่า บุคคลเหล่านี้ที่พบว่าติดเชื้อไม่ค่อยยอมเปิดเผยกับเจ้าหน้าที่ ว่าไปเที่ยวตามสถานบันเทิงเหล่านี้มายิ่งทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนการระบาดได้ยากขึ้น

“บทเรียนนี้สอนให้เราตระหนักว่า แค่มีคนกลุ่มเดียวที่ไม่ทำตามกฎ ก็จะมีรอยรั่วครับ พากันแตกหมด”

ศ.เฉิน ยังตัดพ้อด้วยว่า ไต้หวันไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากการระบาดที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สถานบันเทิง จึงต้องเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน

ด้าน ผศ.อเล็กซ์ คุก จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) มองว่า ความผิดพลาดของไต้หวันเป็นตัวอย่างของความเสี่ยงจากการให้ความสำคัญกับมาตรการด้านการปิดกั้นพรมแดนมากเกินไป แต่ให้ความสำคัญกับมาตรการรับมือภายในไม่เพียงพอ

สิงคโปร์ รอยรั่วที่รั้ว

ทว่า ในสิงคโปร์นั้นก็เผชิญกับการระบาดระลอกใหม่เช่นกัน แต่มาจากคนละสาเหตุ โดยสิงคโปร์นั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการเข้มข้นทั้งด้านพรมแดนและภายในประเทศ เช่น การกักตัว การชุมนุมไม่เกิน 8 คน สถานบันเทิงถูกปิด และการจำกัดปริมาณแขกตามงานมงคล

รอยรั่วของมาตรการสิงคโปร์เกิดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าในท่าอากาศยานชางงีจนกลายเป็นคลัสเตอร์การระบาดรอบใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในปีนี้แล้ว

การสืบสวนพบว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ของการท่าที่ติดโรคโควิด-19 นั้นทำงานในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งคอยรับนักเดินทางที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในเอเชียใต้ แต่กลับยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

เจ้าหน้าที่เหล่านี้เดินทางไปรับประทานอาหารในฟู้ดคอร์ตของสนามบิน ทำให้ไวรัสกระจายตัวไปทั่ว ส่งผลให้ทางการสิงคโปร์ต้องสั่งปิดอาคารผู้โดยสารของสนามบินไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้

ผลการตรวจยืนยันชัดเจนว่าโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นั้นเป็นชนิดกลายพันธุ์ที่พบในอินเดียเป็นครั้งแรก หรือบี.1.617 ซึ่งมีความสามารถในการระบาดสูงยิ่งกว่าชนิดจากอังกฤษ

นำมาสู่มาตรการใหม่ของทางการสิงคโปร์ที่จัดพื้นที่เฉพาะสำหรับนักเดินทางที่มาจากชาติกลุ่มเสี่ยงแยกออกจากชาติกลุ่มอื่นแบบสมบูรณ์ รวมถึงการจัดกำลังและแบ่งแยกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของแต่ละโซนออกจากกันอย่างเด็ดขาด

โควิด

อย่างไรก็ดี ชาวสิงคโปร์ต่างพากันตั้งคำถามว่า เหตุใดมาตรการดังกล่าวจึงไม่นำมาใช้ในสนามบินแต่แรก เพราะเคยมีผู้เชี่ยวชาญออกมาชี้เป้าตั้งแต่หลายเดือนก่อนแล้ว

ศ.เตียว ยิกยิง คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า การมาถึงของสายพันธุ์จากอินเดียนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่แรกอยู่แล้ว

“ส่วนตัวแล้วผมเข้าใจนะ ว่าทำไมคนสิงคโปร์เค้าหงุดหงิดกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วคนทั่วไปเค้าให้ความร่วมมือรัฐบาลกันเคร่งครัดมากอยู่แล้ว” และว่า “แต่ต้องเข้าใจว่าเราไม่ใช่จีนที่จะสามารถปิดประเทศได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศศูนย์กลางเศรษฐกิจหลายด้าน”

“ยกตัวอย่างอีกประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาครับ เค้ารับเชื้อเข้าประเทศไปนี่ก็ไม่ได้จากคนจีนนะ เค้ารับผ่านจากคนที่ไปยุโรปมากัน ดังนั้นจะให้เราห้ามคนประเทศไหนเข้าบ้างละครับ มันปิดไม่มิดหรอก” ศ.เตียว ระบุ

ทว่า ผช.ศ.คุก ยังมองว่า สิงคโปร์นั้นยังอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมการระบาดรอบใหม่ได้ และส่วนตัวไม่ได้มองว่าถึงขั้นเพลี่ยงพล้ำ เพราะอยู่ในภาวะที่รับมือได้

“หากเทียบกับที่อังกฤษแล้วถือว่าการระบาดของเรายังต่ำมากครับ เรียกได้ว่า 1 ใน 10 ของที่โน่น พูดง่ายก็คือ ทางสิงคโปร์เรามีมาตรการเพื่อไม่ให้ต้องไปถึงจุดนั้นอยู่แล้ว” ศ.คุก ระบุ

ฉีดวัคซีนล่าช้า

แม้ทั้งสองพื้นที่จะมีสาเหตุการระบาดครั้งใหม่ที่แตกต่างกัน แต่ปัญหาที่ทั้งสิงคโปร์และไต้หวันมีเหมือนกัน คือ ความล่าช้าของโครงการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชน หรือการฉีดวัคซีนนั่นเอง

ด้านหนึ่ง ชาวไต้หวัน ไม่ต้องการรับการฉีดวัคซีน เพราะมองว่าตัวเองไม่ได้เสี่ยงอีกต่อไปแล้ว ทั้งยังเกิดกระแสความไม่มั่นใจในวัคซีนจากบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า ของอังกฤษ ซึ่งทางการไต้หวันใช้เป็นวัคซีนหลัก

โควิด

ล่าสุด เมื่อเกิดการระบาดรอบใหม่ขึ้นทำให้ชาวไต้หวันจำนวนมากเริ่มทยอยเดินทางไปรับการฉีดวัคซีนจากภาครัฐ ทว่า รัฐกลับมีวัคซีนไม่เพียงพอ เพราะเพิ่งได้รับมาเพียง 3 แสนโดส ขณะที่ประชากรมีถึง 24 ล้านคน

ศ.เฉิน ระบุว่า ไต้หวันพยายามอย่างดีที่สุดในการเจรจาจัดซื้อวัคซีนมาให้ประชาชนแต่ก้ได้มาไม่มาก ทำให้ทางเดียวที่เหลืออยู่ คือ ไต้หวันต้องผลิตใช้เองให้ได้ ปัจจุบัน มีอยู่ 2 ชนิด และคาดว่าจะใช้ได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ค.นี้

อีกด้านหนึ่งที่สิงคโปร์ก็เช่นกัน ล่าสุด มีชาวสิงคโปร์เพียงร้อยละ 30 ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไป แม้จะเป็นชาติที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ไวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม และรัฐบาลมีแผนจะฉีดให้ครบทุกคนภายในสิ้นปีนี้

ศ.เตียว ระบุว่า ปัญหาอยู่ที่วัคซีนไม่พอ ไม่เหมือนอย่างสหรัฐฯ จีน และอังกฤษ ที่มีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนใช้เองได้ และว่าสิงคโปร์คาดว่า ความต้องการวัคซีนจะเกิดขึ้นในระยะยาว จึงอยู่ระหว่างการตั้งโรงงานเพื่อผลิตเอง พร้อมเตือนชาติอื่นๆ ให้ถอดบทเรียนจากทั้งสิงคโปร์และไต้หวัน

“อย่างสหรัฐและชาติยุโรปที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการ ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง แล้วก็ดูด้วยว่าในโลกนี้กำลังมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นในไต้หวันและสิงคโปร์ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ไม่ควรประมาทครับ” ศ.เตียว ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน