นายกฯสิงคโปร์แนะจีน-สหรัฐฯเลี่ยงสงคราม ชี้เสียหายป่นปี้ทุกฝ่าย

นายกฯสิงคโปร์แนะจีน-สหรัฐฯเลี่ยงสงคราม – วันที่ 20 พ.ค. เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์รายงานว่า นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เรียกร้องให้ทางการจีนและสหรัฐอเมริกา หันหน้ามาร่วมมือกันแม้จะไม่ไว้ใจกันก็ตาม และหลีกเลี่ยงการทำสงครามใหญ่ต่อกัน เพราะจะส่งผลเสียหายอย่างสุดขั้วต่อทุกฝ่ายทั่วทั้งโลก

คำกล่าวของผู้นำสิงคโปร์มีขึ้นระหว่างการประชุมเศรษฐกิจโลกทางออนไลน์ (จีเอฟอีอาร์) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพการประชุม โดยนายลี ระบุว่า หากสหรัฐ และจีนปะทะกันด้วยกำลังทางทหาร ทุกอย่างบนโลกก็จะพังพินาศกันหมด

นายกฯ ลี เซียน ลุง FILE PHOTO: Singapore’s Prime Minister Lee Hsien Loong delivers a keynote address at the IISS Shangri-la Dialogue in Singapore, May 31, 2019. REUTERS/Feline Lim/File Photo

“บรรยากาศทั่วโลกจะเต็มไปด้วยความตึงเครียด เกิดความหวาดระแวงไปทั่วโลก เป็นสถานการณ์ที่แย่ ไม่ใช่แย่แต่เฉพาะชาติน้อยใหญ่ แต่แย่กับทั้งสหรัฐฯและจีนด้วย” ลี ระบุ

ผู้นำสิงคโปร์ ระบุว่า ทั้งสหรัฐฯและจีนนั้นเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และมีแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจและกองทัพมหาศาล หากรบพุ่งกันในสงครามใหญ่ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้

นายลี กล่าวแนะนำว่า ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหันหน้ามาทำงานร่วมกัน และยอมรับอีกฝ่ายให้ได้ โดยมหาอำนาจทั้งสองชาติจะต้องทำงานร่วมกันในหลายปัญหา อาทิ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ สาธารณสุข และโรคระบาดในอนาคต

FILE – In this March 18, 2021, file photo Secretary of State Antony Blinken, second from right, joined by national security adviser Jake Sullivan, right, speaks while facing Chinese Communist Party. (Frederic J. Brown/Pool via AP, File)

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ การตอบโต้กันด้วยมาตรการกำแพงภาษีสินค้า การขับเคี่ยวกันเพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีหลายด้าน

รวมทั้งข้อครหาว่าจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ ตลอดจนข้อครหาเรื่องต้นตอของโรคระบาดอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19

นอกจากนี้ ทั้งสองชาติยังบาดหมางกันกรณีการอ้างสิทธิครอบครองทะเลจีนใต้ของทางการจีน การแผ่อิทธิพลเข้าครอบงำฮ่องกง และข้อครหาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่อชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเกียง ถึงขั้นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์

In this photo released by the U.S. Navy, the U.S. Arleigh Burke-class guided-missile destroyer USS Curtis Wilbur (DDG 54) conducts routine operations in the Taiwan Strait, May 18, 2021. (Mass Communication Specialist 3rd Class Zenaida Roth, U.S. Navy via AP)

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งกองทัพจีนและสหรัฐฯ ยังยกระดับความเคลื่อนไหวในพื้นที่ทะเลจีนใต้ และช่องแคบไต้หวัน ก่อให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาค และเพิ่มความเสี่ยงที่ทั้งสองฝ่ายจะปะทะกันด้วยกำลังรบทางทหาร

นายลี กล่าวย้ำว่า ทางการสหรัฐฯ กับจีนจะต้องผสานความบาดหมางระหว่างกัน รวมทั้งผสานแนวคิดทางการเมืองท้องถิ่นของตัวเองแต่ละฝ่ายด้วย

“แนวคิดทางการเมืองท้องถิ่นของแต่ละฝ่ายที่ผมพูดถึง คือ ทั้งสองฝ่ายต้องเลิกแนวคิดตามสัญชาติญาณชาตินิยม ต้องหันมาคิดว่า เราจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติเรา ด้วยการหันมาทำงานร่วมมือกัน”

Philippine Coast Guard personnel survey several ships believed to be Chinese militia vessels in Sabina Shoal in the South China Sea. Philippine Coast Guard/Handout via REUTERS

ผู้นำสิงคโปร์ ระบุว่า “สองฝ่ายต้องมีจิตใจตั้งมั่นว่า ไม่ว่าจะไว้ใจกันหรือไม่ เป็นเพื่อนรักของเรารึเปล่า แต่เราต่างก็ต้องเป็นพาร์ทเนอร์กันบนดาวเคราะห์โลกดวงนี้ครับ”

รายงานระบุว่า ความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยลงในระดับรัฐบาลของสหรัฐฯ กับจีนนั้นยังส่งผลลุกลามไปถึงมุมมองของคนอเมริกันและชาวจีนด้วย สะท้อนจากผลสำรวจของ Pew Research Centre

ผลสำรวจดังกล่าวพบว่า 9 ใน 10 ของคนอเมริกัน มองว่า จีนเป็นคู่แข่ง หรือถึงขั้นศัตรู และชาวอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลให้ดำเนินมาตรการกดดันทางการจีน เพื่อจัดการกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

เช่นเดียวกันในประเทศจีน กระแสความไม่พอใจสหรัฐฯ ของชาวจีนกำลังเริ่มแผ่ขยายเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยชาวจีนมองว่า สหรัฐฯ พยายามขัดขวางไม่ให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการทหาร

china daily

นายหลิว เฉียง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีน-สหรัฐ จากสถาบันสังคมศาสตร์ในจีน มองว่า คำกล่าวของนายลี เป็นสัญญาณว่าหลายชาติรวมถึงสิงคโปร์กำลังเริ่มไม่สบายใจต่อความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจ

นายหลิว ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ยังไม่ได้ทำสิ่งใดที่เป็นการยุตินโยบายการต่อต้านจีนของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และบรรดาที่ปรึกษาชุดปัจจุบันก็แลดูจะสนับสนุนและต้องการให้ประธานาธิบดีไบเดนกลายเป็นแบบทรัมป์ไปอีกคน

“พฤติกรรมที่ว่านี้ทำให้ชาติอื่นในภูมิภาคกังวลใจ เพราะหากเกิดสงครามขึ้นมาก็จะเจองานหยาบ ต้องเลือกระหว่างจีนหรือสหรัฐ ทั้งยังต้องตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง และไม่สามารถควบคุมได้อีกด้วย” นายหลิว ระบุ

นายป๋อ จื้อเยว่ ผู้ก่อตั้งสถาบัน ป๋อ จื้อเยว่ คอยให้คำปรึกษาต่อเอกชนและรัฐบาลนานาชาติ ระบุว่า หลายฝ่ายตอนนี้กังวลที่สุดเรื่องการขาดกลไกการแก้ปัญหาระหว่างสองมหาอำนาจ

นายป๋อกล่าวว่า กลไกข้างต้นเคยมีอยู่ช่วงสงครามเย็น เช่น โทรศัพท์สายตรงระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับอดีตสหภาพโซเวียต แม้สายตรงระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับจีนจะมีอยู่ แต่กลับไม่เคยถูกนำมาใช้

กรณีดังกล่าวเคยถูกกล่าวถึงไว้โดย นายเคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานรัฐบาลสหรัฐ ภาคพื้นอินโดจีน ในแม็กกาซีน Foreign Policy ประจำเดือนพ.ค. ว่าทางการจีนไม่เคยให้ความสนใจต่อช่องทาง

ด้านนายซ่ง จงผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจีน กล่าวตอบโต้ในบทความของ Global Times หนึ่งในสื่อที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่าการที่จีนไม่ใช้ช่องทางดังกล่าวนั้นสืบเนื่องมาจากความไม่ไว้ใจจีนของสหรัฐ เพราะแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงการขัดแย้งกันทางโทรศัพท์

อย่างไรก็ตาม นายป๋อ ยืนยันว่า ทางการจีนไม่ควรหันหลังให้ช่องทางดังกล่าว เพราะถือเป็นกลไกการแก้ไขความขัดแย้งที่สำคัญมาก

“การไม่รับโทรศัพท์สายตรงระหว่างผู้นำ ถือว่าขัดหลักปฏิบัติสากลด้วยนะครับ เพราะความขัดแย้งกันระหว่างมหาอำนาจเนี่ยเข้าใจได้ แต่ปัญหาตอนนี้คือ มันไม่เหลือกลไกติดต่อ ไม่มีช่องทางไหนเหลือไว้คุยกันแล้วอ่ะดิครับ” นายป๋อกล่าว

+++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สหรัฐย้ายยุทธศาสตร์การทหาร จากตะวันออกกลางมาเอเชีย ชนจีน

จีนVSสหรัฐ 2มหาอำนาจบาดหมางกันกี่เรื่องแล้ว หลังทรัมป์ชนจีนจังๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน