โควิด เดลต้าลาม85ปท. เปิดผลศึกษาวัคซีนไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า

โควิด – วันที่ 24 มิ.ย. ดิอีโคโนมิกไทมส์รายงานว่า เชื้อไวรัสโคโรนาพันธุ์ซาร์ส 2 ชนิดกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย หรือชนิดเดลต้า ถูกคาดว่าจะระบาดกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อโรคโควิด-19 ทั่วโลก หลังมีรายงานการค้นพบแล้วใน 85 ประเทศ และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ ที่น่ากังวล (VOC) ได้แก่ อัลฟ่า (พบครั้งแรกที่อังกฤษ) ตรวจพบแล้วใน 170 ประเทศ เบต้า (พบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้) ตรวจพบแล้วใน 119 ประเทศ แกมมา (พบครั้งแรกที่บราซิล) ตรวจพบแล้วใน 71 ประเทศ และเดลต้า ตรวจพบแล้วใน 85 ประเทศ

WHO ระบุว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานการค้นพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดเดลต้าในประเทศใหม่ถึง 11 ชาติ เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติของเดลต้า พบว่ามีความสามารถในการระบาดสูงกว่าอัลฟ่า หากแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลง เดลต้า จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักบนโลก

สำหรับพื้นที่การระบาดหนักของสายพันธุ์เดลต้า เริ่มที่อินเดีย พบว่าแม้มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่สะสมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 30 คือ 441,976 คน แต่มีบางวันที่พบยอดผู้ติดเชื้อมากเป็นสถิติใหม่ เช่นเดียวกันกับ ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 31 คือ 16,329 ราย แต่ก็มีบางวันที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นสถิติใหม่ด้วย

ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบผู้ติดเชื้อสะสมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมากว่า 6 แสนคน และยอดสะสมผู้เสียชีวิตกว่า 19,000 ราย ลดลงจากเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ 21 และ 26 ตามลำดับ

WHO คาดว่า แนวโน้มการลดลงของผู้ติดเชื้อสะสมและผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มเชื่อมโยงกันกับการระบาดในอินเดีย

ขณะที่ผลการศึกษาจากประเทศสิงคโปร์พบว่าลักษณะเด่นที่บ่งบอกถึงการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ได้แก่ โอกาสที่ผู้ป่วยจะมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำนั้นมากขึ้น และมีโอกาสมากขึ้นที่ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยวิกฤต หรือไอซียู หรือมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นด้วย

ส่วนผลการศึกษายืนยันจากประเทศญี่ปุ่นนั้นพบว่า สายพันธุ์เดลต้ามีความสามารถในการติดต่อจากคนสู่คนสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าจริง (ค่าอาร์น็อต) โดยพบว่ามีค่าอยู่ที่ 1.78 สำหรับเดลต้า และ 1.56 สำหรับอัลฟ่า กล่าวคือ มีความสามารถในการระบาดมากกว่าอัลฟ่าเป็น 1.23 เท่า

WHO ยังนำผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนบางส่วนต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้าและอัลฟ่ามาเปิดเผยด้วย ได้แก่ ผลวิจัยจากประเทศอังกฤษในบุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม เป็นเวลานาน 14 วัน

ผลการศึกษาพบว่า วัคซีนจากไฟเซอร์สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากเดลต้าได้ร้อยละ 96 และอัลฟ่าร้อยละ 95 ส่วนวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันป่วยรุนแรงจากเดลต้าได้ร้อยละ 92 และอัลฟ่าร้อยละ 86

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาในผู้รับวัคซีนไฟเซอร์เพียงเข็มเดียวนาน 21 วัน ต่อเชื้อเดลต้าพบว่าสามารถป้องกันป่วยรุนแรงได้ร้อยละ 96 ต่อเชื้ออัลฟ่าสามารถป้องกันป่วยรุนแรงได้ร้อยละ 83 เช่นเดียวกันกับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า

อีกผลการศึกษาหนึ่งจากสก็อตแลนด์ พบว่าวัคซีนไฟเซอร์สามารถป้องกันอาการป่วยจากเชื้อเดลต้าได้ร้อยละ 83 และการติดเชื้อเดลต้าได้ถึงร้อยละ 79 ในบุคคลอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม เป็นเวลา 14 วัน

“ผลการศึกษาทั้งสองบ่งชี้ถึงความสามารถปานกลางในการลดภาวะการติดเชื้อทางเดินหายใจ จากการป้องกันการติดเชื้อและอาการป่วยของเชื้อกลายพันธุ์ชนิดเดลต้า เทียบกับอัลฟ่า”

“การศึกษายังเป็นหลักฐานที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จากทั้งไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อป้องกันการป่วยรุนแรง อาการป่วยจากการติดเชื้อ การติดเชื้อ จากทั้งเชื้อกลายพันธุ์ชนิดเดลต้าและอัลฟ่า” WHO ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน