เมืองเลกอสแห่งไนจีเรีย – วันที่ 2 ส.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานปัญหาของเมืองเลกอสของไนจีเรีย เมืองที่มีประชากรมากสุดของแอฟริกาในช่วงฤดูฝน ที่เผชิญน้ำท่วมและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จนผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อีกไม่นาน เมืองนี้อาจกลายเป็นเมืองที่ไม่สามารถให้คนอยู่อาศัยได้

ผู้อยู่อาศัยในไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรมากสุดของแอฟริกา คุ้นเคยกับน้ำท่วมทุกปีทั่วเมืองชายฝั่งในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ย. อย่างไรก็ตาม กลางเดือนก.ค. ย่านธุรกิจหลักของเมืองเกาะเลกอสประสบอุทกภัยครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ภาพถ่ายและวิดีโอที่โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์เผยรถยนต์หลายสินคับถูกน้ำท่วมหลังฝนตกกระหน่ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจเป็นอัมพาต ด้วยค่าใช้จ่ายประเมินราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ 131,870 ล้านบาทต่อปี

การประเมินทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า เลกอส เมืองที่มีประชากรมากกว่า 24 ล้านคน เป็นเมืองเล็กๆ บนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของไนจีเรีย อาจกลายเป็นที่อยู่อาศัยไม่ได้ภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ เนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

การศึกษาที่นำโดย สถาบันพัฒนาศึกษา (Institute of Development Studies) ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้นจาก “ระบบการระบายน้ำไม่เพียงพอและได้รับการดูแลไม่ดี ตลอดจนการเติบโตของเมืองที่ไม่สามารถควบคุมได้”

สำนักอุทกวิทยาของไนจีเรีย (NIHSA) พยาการณ์ น้ำท่วมจะรุนแรงมากขึ้นในเดือนกันยายน ซึ่งมักเป็นจุดสูงสุดของฤดูฝน

 

การกัดเซาะชายฝั่ง

เมืองเลกอส ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่บนไนจีเรียแผ่นดินใหญ่ และเป็นหมู่เกาะต่างๆ กำลังต่อสู้กับปัญหาแนวชายฝั่งที่กัดเซาที่ทำให้เมืองเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งนายเซยีฟุนมี อาเดโบเต (Seyifunmi Adebote) นักสิ่งแวดล้อมไนจีเรีย กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาโลกร้อนและการกระทำจากมนุษย์เป็นระยะเวลานาน

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมต่างระบุว่า การขุดทรายเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างเป็นปัจจัยสำคัญในการกัดเซาะชายฝั่งในเมืองเลกอส

ด้านนายฃมันโซ เอเซคีเอล (Manzo Ezekiel) โฆษกสำนักจัดการฉุกเฉินไนจีเรีย (NEMA) บอกว่า ริมฝั่งแม่น้ำของวิกตอเรียไอแลนด์ (Victoria Island) ของเมืองเลกอสกำลังถูกกัดเซาะ โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะวิกตอเรียของเมืองเลกอส มีปัญหาริมฝั่งแม่น้ำนี้ถูกกัดเซาะ ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นกำลังกินแผ่นดิน

ทั้งนี้ วิกตอเรียไอแลนด์ มีย่านมั่งคั่งของเมืองเลกอส ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งแห่งใหม่ทั้งหมดในชื่อ “อีโค แอตแลนติก” (Eko Atlantic) กำลังก่อสร้างบนแผ่นดินที่ถมจากมหาสมุทรแอตแลนติก และจะมีการป้องกันจากระดับน้ำสูงขึ้น ด้วยกำแพงความยาว 8 กิโลเมตร ทำจากบล็อกคอนกรีต

แม้ว่าโครงการทะเยอทะยานนี้อาจช่วยลดปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในส่วนอื่นๆ ของเมือง แต่นายเอเซคีเอลกลัวว่า การถมที่ดินจากทะเลจะสร้างแรงกดดันต่อพื้นที่ชายฝั่งอื่นๆ ขณะที่นักวิจารณ์คนอื่นๆ แย้งว่า พื้นที่ติดกันที่ได้รับการป้องกันจากกำแพงจะเสี่ยงต่อคลื่นน้ำขึ้นน้ำลง (tidal surges)

 

เมืองชายฝั่งเสี่ยงถูกจม

บรรดาเมืองชายฝั่งพื้นที่ราบในหลายส่วนของโลกใบนี้อาจอยู่ใต้น้ำถาวรภายในปี 2643 (ค.ศ. 2100) ตามผลการศึกษาของกลุ่มวิจัย ไคลเมต เซ็นทรัล (Climate Central) ซึ่งระบุว่า บริเวณที่ได้รับผลกระทบอาจเสี่ยงอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำขึ้น (high-tide line) หากระดับน้ำทะเลยังสูงขึ้น

การศึกษาระบุว่า ด้วยผลจากมลพิษดักจับความร้อนจากกิจกรรมมนุษย์ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้น้ำท่วมเรื้อรังภายใน 3 ทศวรรษ สูงกว่าแผ่นดินปัจจุบันที่มีประชากร 300 ล้านคน และว่า ภายในปี 2643 พื้นที่ตอนนี้ที่มีประชากร 200 ล้านคน อาจอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำขึ้นอย่างถาวร

มีการทำนายว่าระดับน้ำทะเลโลกจะสูงขึ้นมากกว่า 6 ฟุต (2 เมตร) ภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ นั่นทำให้เมืองเลกอส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อยู่เหนือระดับน้ำทะเลน้อยกว่า 2 เมตรนั้น อยู่ในสภาพน่ากลัว เนื่องจากแนวชายฝั่งไนจีเรียเป็นพื้นที่ราบ

ในการศึกษาจากปี 2555 มหาวิทยาลัยพลิมัทของอังกฤษพบว่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเพียง 3-9 ฟุต (ราว 1-3 เมตร) “จะมีผลกระทบหายนะต่อกิจกรรมมนุษย์” ในสิ่งแวดล้อมชายฝั่งไนจีเรีย

นายอาเดโบเตบอกว่า ชะตากรรมเมืองเลกอสจะขึ้นอยู่กับว่า เราจัดลำดับความสำคัญคำทำนายทางวิทยาศาสตร์อย่างไร และเราจะดำเนินการที่สอดคล้องอะไรเป็นการรับมือ “นั่นเป็นเพียงเรื่องของเวลาก่อนที่ธรรมชาติจะเอาคืนและนี่อาจเป็นหายนะ”

 

ไนจีเรียเผชิญน้ำท่วมร้ายแรง

อุทกภัยต่อเนื่องยาวนานในพื้นที่ชายฝั่งไนจีเรียคร่าชีวิตจำนวนมากและพลัดถิ่นหลายคน ข้อมูลของ NEMA ระบุว่า น้ำท่วมในปี 2563 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนมากกว่า 2 ล้านคน คร่าชีวิตอย่างน้อย 69 ราย ส่วนน้ำท่วมในปี 2562 กระทบต่อประชาชนมากกว่า 200,000 คน คร่าชีวิต 158 ราย

“ทุกปีเราเห็นน้ำท่วมในไนจีเรีย เป็นปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเราอยู่ร่วมกับมัน” นายเอเซคีเอลระบุ

นอกเหนือจากความเปราะบางของเมืองเลกอสต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแล้ว ระบบการระบายน้ำไม่ดีและรางน้ำอุดตันตามท้องถนนในพื้นที่กว้างใหญ่ของเมืองอาจเพิ่มความท้าทายต่อปัญหาน้ำท่วมด้วย

“หนักพอกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เป็นส่วนหนึ่งให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สิ่งที่คุณเห็นในวิดีโอนี้คือปัญหาระบบการระบายน้ำอย่างชัดแจ้ง” ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทวีตข้อความตอบโต้วิดีโอน้ำท่วมในเมืองเลกอสไม่นานนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่น้ำท่วมในบางพื้นที่ ย่านที่มีรายได้น้อยที่สร้างบนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีการถมจำเป็นต้องต่อสู้กับบ้านเรือนที่กำลังจมน้ำ

 

ทำให้เมืองเลกอสอยู่เหนือน้ำ

นายอาเดโบเตบอกว่า เพื่อให้เมืองเลกอสอยู่เมื่อเผชิญน้ำท่วมและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะต้องปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ต้องพิจารณาว่า โครงสร้างพื้นฐาน นั่นคือระบบระบายน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการขยะ โครงสร้างที่อยู่อาศัย มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้เพียงใด เมื่อเผชิญกับแรงกดดันสิ่งแวดล้อม และเมื่อเจอกับประชากรที่เพิ่มขึ้น

แม้ว่าทางการในเมืองเลกอสเริ่มเคลียร์ช่องทางน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยเป็นการถาวร และประธานาธิบดี มูฮัมมาดู บูฮารี ของไนจีเรีย แสดงความเต็มใจที่จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กับประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน และรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส

แต่นายอาเดโบเตตั้งข้อสังเกตว่า การตอบสนองของรัฐบาลต่อการทำงานด้านภูมิอากาศส่วนใหญ่ยังแย่ เนื่องจากมีหลายอย่างต้องทำและจะดำเนินการอย่างสม่ำเสมอและรอบคอบในส่วนของผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ สำหรับไนจีเรีย ในการทำงานด้านภูมิอากาศอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปรับตัวเข้ากับผลกระทบที่คุกคามการดำรงชีวิตของเราอยู่แล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ตะลึง! ผลวิจัยใหม่ เปิดชื่อเมืองจมบาดาล ชี้ กทม.อีก 30 ปีจมแน่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน