อังกฤษจี้รัฐขอโทษปมฉวยเที่ยวบิน แฝงภารกิจลับสงครามคูเวต ปล่อยผู้โดยสารรับกรรม

อังกฤษจี้รัฐขอโทษปมฉวยเที่ยวบิน – วันที่ 5 ส.ค. บีบีซี รายงานกระแสกดดันให้รัฐบาลอังกฤษชี้แจงข้อเท็จจริงและกล่าวคำขอโทษต่อลูกเรือและผู้โดยสารเที่ยวบินที่ 149 ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ ซึ่งข้อมูลบ่งชี้ว่าอาจถูกรัฐฉวยโอกาสใช้ในภารกิจลับทางทหาร

กระแสกดดันดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการวางจำหน่ายหนังสือเรื่อง Operation Trojan Horse ของนายสตีเฟน เดวิส ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนที่ค้นหาข้อเท็จจริงเบื้องหลังเหตุลูกเรือและผู้โดยสารเที่ยวบินดังกล่าวถูกทหารกองทัพอิรักเข้าควบคุมตัวหลังเครื่องลงจอดแวะพักที่สนามบินที่ประเทศคูเวตในช่วงที่กองทัพอิรักส่งกำลังบุกเข้าสู่คูเวตเมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 2 ส.ค. ปีพ.ศ. 2533

อังกฤษจี้รัฐขอโทษปมฉวยเที่ยวบิน

Operation Trojan Horse เขียนโดย Stephen Davis

ลูกเรือและผู้โดยสารที่ถูกทหารกองทัพอิรักจับกุมนั้นถูกนำไปกักขังหน่วงเหนี่ยว ล่วงละเมิดทางเพศ และใช้เป็นโล่มนุษย์ตามสถานที่สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรโจมตีทางอากาศ ก่อนจะได้รับอิสรภาพในเวลา 5 เดือนต่อมา ขณะที่เครื่องบินนั้นถูกกองทัพอิรักยิงทำลายทันที

เรื่องราวเริ่มตั้งแต่เครื่องบินลำดังกล่าวบินขึ้นจากท่าอากาศยานฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงเย็นของวันที่ 1 ส.ค. 2533 จากนั้นจึงบินไปแวะพักเครื่องที่สนามบินประเทศคูเวตในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 2 ส.ค. และเตรียมออกเดินทางต่อไปยังชาติในทวีปเอเชีย

ทั้งๆ ที่เป็นเวลาที่กองทัพอิรักกำลังเปิดฉากส่งกำลังเข้ารุกรานคูเวต โดยเป็นเครื่องลำเดียวที่ไปจอดแวะพัก เพราะสายการบินอื่นเปลี่ยนเส้นทางหลีกเลี่ยงหมดแล้ว

COLIN DAVEY/GETTY IMAGES
เครื่องบินถูกทำลายเละบนรันเวย์

นายแอนโธนี เพซ เจ้าหน้าที่การทูตที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศคูเวตตั้งแต่ปี 2531 จนถึงช่วงที่กองทัพอิรักรุกรานคูเวต ระบุว่าต้องการออกมาให้ข้อมูลกับสังคมตามความรับผิดชอบตามหลักของข่าวกรองด้านการเมือง

นายเพซ เป็นบุคคลที่เคยถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของหน่วยข่าวกรองอังกฤษ หรือ เอ็มไอ 6 ปฏิบัติภารกิจลับอยู่ในสถานทูตของอังกฤษที่คูเวต เคยอ้างว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้เนื่องจากกฎหมายเรื่องความลับข้อมูล ซึ่งตนยอมรับว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม

ทว่า ล่าสุด นายเพซต้องการออกมาแฉเรื่องราวทั้งหมด เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพร่วมกันกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย

นายเพซแสดงความเชื่อว่า หน่วยข่าวกรองของกองทัพอังกฤษฉวยโอกาสใช้เที่ยวบินที่ 149 ของสายการบินบริติช แอร์เวย์จริง แม้รัฐบาลอังกฤษสมัยนั้นจะออกมาปฏิเสธข้อครหานี้อย่างต่อเนื่องก็ตาม

อดีตนักการทูต ระบุว่า ตนเชื่อว่ามีการวางแผนอย่างเร่งรีบเพื่อส่งกำลังหน่วยหาข่าวแทรกซึมเข้าสู่สมรภูมิ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษ และกองทัพ ทำให้ตนกับเอกอัครราชทูตอังกฤษตอนนั้นไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน

นายเพซสันนิษฐานว่า การที่ไม่ให้พวกตนรับทราบก่อนก็เพื่อให้สามารถปฏิเสธภารกิจลับนี้ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ อย่างไรก็ตาม นายเพซเองก็เป็นบุคคลที่เคยถูกครหา ว่ามีส่วนร่วมในการวางแผนปฏิบัติการลับข้างต้น ทั้งยังเจตนาทำให้สายการบินบริติช แอร์เวย์ เข้าใจผิด ซึ่งนายเพซยืนยันว่าไม่จริง

อดีตนักการทูต เล่าว่า ตนบอกกับผู้แทนของสายการบินบริติช แอร์เวย์ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 1 ส.ค. ถึงวิกฤตความขัดแย้งขั้นวิกฤตระหว่างคูเวตและอิรัก โดยตอนนั้นการรุกรานยังไม่เกิด

“หากเครื่องบินคุณมาช่วงเที่ยงคืนของคืนนี้ก็น่าจะรอดอยู่ ผมบอกเค้ายังงี้ครับ” เพซ ระบุ

นอกจากนี้ เพซ ยังย้อนความว่า ตนได้เตือนทางสายการบินด้วยว่าอิรักอาจส่งกองทัพเข้ามารุกรานช่วงเช้ามืดของวันที่ 2 ส.ค. ดังนั้นเครื่องของสายการบินที่มาช่วงนั้นอาจจะลงไม่ได้

โล่มนุษย์

นายไคลฟ เออร์ธี หัวหน้าลูกเรือของเที่ยวบินที่ 146 เล่าว่า หลังจากเครื่องร่อนลงแวะพักที่สนามบินที่ประเทศคูเวต มีบุคคคในเครื่องแบบทหารมาพบทันทีที่ประตูลงจากเครื่องเปิดออก โดยระบุกับตนว่ามารับเพื่อนอีก 10 คน ซึ่งขึ้นเครื่องมาจากสนามบินฮีทโธรว์ จากนั้นผู้โดยสารทั้ง 10 คน เดินทางออกจากเครื่องไป และไม่มีใครพบเห็นอีก

“พวกเขาได้รับการเร่งรัดพิธีตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเข้าไปในคูเวตครับ ขณะที่ผู้โดยสารและลูกเรือของผมถูกให้ความสำคัญรองลงมา” เออร์ธี ระบุ

หัวหน้าลูกเรือของเที่ยวบินที่ 146 ระบุว่า ตนถือว่ารัฐบาลอังกฤษต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้นทั้งหมด โดยต่อมาทหารจากกองทัพอิรักที่รุกรานเข้ามาในคูเวตก็เข้าควบคุมตัวผู้โดยสารและลูกเรือ แม้บางคนจะได้รับการปล่อยตัวไป

ทว่า มีหลายคนที่ต้องเผชิญกับการประทุษร้าย ล่วงละเมิดทางเพศ และถูกควบคุมตัวในสภาพอดอยาก บางคนถูกทหารอิรักนำตัวไปไว้ตามสถานที่ทางยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นโล่มนุษย์ป้องกันการโจมตีทางอากาศจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร

นายเดวิส ผู้เขียนหนังสือ Operation Trojan Horse กล่าวว่า ได้มีโอกาสสัมภาษณ์สมาชิกของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่โดยสารเที่ยวบินที่ 149 ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ รวมถึงบุคคลที่มีส่วนร่วมในการวางแผนภารกิจลับดังกล่าวด้วยตนเอง

 

นายเดวิส กล่าวว่า ปฏิบัติการลับที่ว่านั้นเกี่ยวข้องกับภารกิจการหาข่าวของหน่วยปฏิบัติการพิเศษเพื่อป้อนให้กับทางการอังกฤษ โดยรัฐบาลอังกฤษคาดไม่ถึงว่ากองทัพอิรักจะบุกมาถึงสนามบินข้างต้นได้รวดเร็วอย่างที่เกิดขึ้น

ทางการอังกฤษคาดไว้ว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเพียงจอดแวะพักเท่านั้นแล้วก็จะได้ออกบินต่อไปยังจุดหมายโดยปราศจากผลกระทบใดๆ ส่วนสมาชิกหน่วยปฏิบัติการพิเศษก็เพียงแค่อาศัยเครื่องมาลงที่คูเวตเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนรายนี้ คาดว่า สายการบินบริติช แอร์เวย์ น่าจะทราบดีถึงภารกิจลับข้างต้น เนื่องจากค่าโดยสารของสมาชิกหน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่านี้ชำระเงินด้วยการโอนเงินจากบัญชีในกองทัพอังกฤษ

กระแสกดดันดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงกลาโหมอังกฤษตอบโต้ด้วยการระบุยืนยันตามแถลงการณ์เดิมของรัฐสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ว่าสภาล่างของอังกฤษเคยแถลงยืนยันแล้วเมื่อปี 2550 ว่าไม่เคยฉวยโอกาสเที่ยวบินที่ 149 เพื่อใช้สำหรับบุคคลของกองทัพในปี 2533

ขณะที่สายการบินบริติช แอร์เวย์ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุเพียงว่าให้ยึดถือตามแถลงการณ์ปฏิเสธข้างต้นของสภาล่างในปี 2550

ต้องขอโทษ

นางจินนี กิลล์ หนึ่งในผู้โดยสารของเที่ยวบิน 149 ตอนนั้นมีอายุ 18 ปี เล่าว่า ที่นั่งของตนและพี่สาวอยู่ด้านหลังเครื่องติดกับชาย 2 คนที่ตลอดไฟลท์ไม่ได้ปริปากพูดแม้แต่คำเดียว โดยตนเชื่อว่าอาจเป็นสมาชิกของหน่วยรบพิเศษข้างต้น

นางกิลล์ ระบุว่า เมื่อเครื่องลงจอดที่สนามบินคูเวต พบว่าบรรยากาศวังเวงน่าขนลุกมาก เพราะไม่มีเครื่องบินลำอื่นใดอีกนอกจากเครื่องของคูเวต แอร์เวย์ ตนกับพี่สาวจึงพากันเดินเล่นเพื่อยืดเส้นยืดสาย จากนั้นเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่นใกล้สนามบิน

“พอตูมสนั่นเท่านั้นหล่ะ พวกเราก็รู้ได้เลยว่ามีบางอย่างไม่ปกติแน่ๆ ค่ะ” และว่า “พวกเราไม่รู้จะหนีไปไหนได้ หรือต้องทำยังไงดี” โดยนางกิลล์ ระบุว่า ชาย 2 คน ที่นั่งข้างๆ ตนก็ไม่ได้เห็นอีก และว่าตนต้องการทราบความจริงจากรัฐบาลเมื่อกลับถึงอังกฤษ แต่ก็ไม่มีใครยอมบอก ราวกับว่าถูกปิดประตูใส่หน้า

ทั้งนี้ หนังสือของนายเดวิส เปิดตัวในงานที่กรุงลอนดอน เนื่องในโอกาสครบรอบ 31 ปี เหตุการณ์เที่ยวบิน 149 มีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งนายเพซ และอดีตผู้โดยสาร รวมทั้งลูกเรือในเหตุการณ์ด้วย

นายเพซ ยืนยันว่า ผู้โดยสารจนปัจจุบันยังไม่ได้รับแม้แต่คำอธิบายใดๆ ว่าเหตุใดจึงต้องถูกทำให้ตกอยู่ในความเสี่ยงอันตราย และว่าอย่างน้อยที่สุดก็ควรได้รับคำขอโทษจากทางการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน