เต่ายักษ์กินลูกนก นักวิทย์มึนเคยคิดว่าเป็นสัตว์กินพืชเท่านั้น

เต่ายักษ์กินลูกนก – วันที่ 24 ส.ค. เดอะการ์เดียนรายงานการค้นพบใหม่ที่สร้างความตกตะลึงให้นักชีววิทยาหลังพบเต่ายักษ์เซเชลส์ (Aldabrachelys gigantea) ซึ่งเดิมเชื่อว่าเป็นสัตว์กินพืชเท่านั้น โจมตีและกินลูกนก บนเกาะฟรีเกต ของสาธารณรัฐเซเชลส์ ชาติหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา

 

คลิปดังกล่าวถูกถ่ายไว้ได้นายแพทย์จัสติน เกอร์ลาช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปีเตอร์เฮาส์ เมืองคัมบริดจ์ พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาจากพิพิธภัณฑ์สัตววิทยา มหาวิทยาลัยคัมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ นับเป็นหลักฐานแรกของโลกที่พิสูจน์ว่าเต่าชนิดนี้ไม่ได้กินพืชเพียงอย่างเดียว

คลิปที่ถ่ายไว้เมื่อเดือนก.ค. 2563 เผยให้เห็นเต่ายักษ์เซเชลส์เพศเมียค่อยๆ คลานเข้าโจมตีลูกนกน็อดดี้ที่พยายามหนีแต่จนมุมถูกเต่างับเข้าที่หัวจนแน่นิ่งไปในที่สุด สร้างความตกตะลึงให้กับคณะสำรวจ

เกาะฟรีเกตเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลที่ได้รับการอนุรักษ์ด้านระบบนิเวศเพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เป็นถิ่นที่อยู่ของเต่ายักษ์เซเชลส์กว่า 3 พันตัว แม้เต่าชนิดอื่นบนเกาะจะออกเคยก่อเหตุโจมตีสัตว์อื่นมาแล้ว แต่ไม่เคยพบเต่าชนิดใดที่ออกล่าและติดตามเหยื่อเหมือนครั้งนี้

เต่ายักษ์เซเชลส์เดิมนั้นนักสัตววิทยาเชื่อว่าเป็นสัตว์กินพืช การค้นพบดังกล่าวจึงสร้างความตกตะลึงให้กับคณะสำรวจเพราะถือเป็นการพลิกตำราทางชีววิทยาครั้งใหญ่ เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ไม่เคยพบมาก่อนของเต่ายักษ์เซเชลส์ในธรรมชาติ

นักวิจัยสันนิษฐานว่า พฤติกรรมการล่าที่เกิดขึ้นของเต่ายักษ์เซเชลส์นั้นมาจากปัจจัยหลักอย่างการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้ผล ทำให้มีนกจำนวนมากกลับมาทำรังในพื้นที่ อาทิ นกน็อดดี้ที่มีประชากรเพิ่มเป็นกว่า 265,000 ตัว

แม้ส่วนใหญ่แล้วนกเหล่านี้จะเคลื่อนไหวได้รวดเร็วว่องไวเกินกว่าที่เต่ายักษ์เซเชลส์ แต่จากพฤติกรรมในคลิปที่พบเต่าค่อยๆ เคลื่อนที่เข้าไปหานกบนขอนไม้ และนกไม่พยายามบินหนีไปสะท้อนว่ารูปแบบเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยและเป็นที่คุ้นเคยของพวกมันดี

นพ.เกอร์ลาช ระบุว่า การค้นพบนี้สะท้อนว่าระบบนิเวศที่ดีนั้นกลับคืนมาและอาจทำให้เต่านำพฤติกรรมเดิมที่เคยใช้ในอดีตกลับมาใช้ได้ แต่อาจไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน เพราะเป็นอดีตที่นานมาแล้วเมื่อครั้งระบบนิเวศยังเหมาะสม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน