ชี้ครูสาวผู้ดีถูกฆ่าแค่เดินไปผับ ฉีกหน้ากากสังคมอังกฤษทำร้ายผู้หญิง-เด็ก

ชี้ครูสาวผู้ดีถูกฆ่าแค่เดินไปผับ – วันที่ 23 ก.ย. ซีเอ็นเอ็นรายงานความคืบหน้าคดีสะเทือนขวัญชาวอังกฤษ กรณีนางสาวซาบรีนา เนสซา อายุ 28 ปี อาชีพครู ถูกพบเสียชีวิต ที่กรุงลอนดอน โดยตำรวจเผยว่าสาเหตุมาจากถูกฆาตกรรมระหว่างเดินไปผับที่ห่างจากบ้านไปเพียง 5 นาที

คดีสะเทือนขวัญดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสความเดือดดาลในหมู่ชาวอังกฤษ และสะท้อนถึงปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเยาวชนที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในสังคมอังกฤษ

สำนักงานตำรวจนครบาลกรุงลอนดอน เปิดเผยว่า น.ส.เนสซา เดินเท้าออกจากบ้านในเขตกรีนิช ทางใต้ของกรุงลอนดอนเมื่อเวลา 20.30 น. ของวันที่ 17 ก.ย. โดยฝ่ายสืบสวน คาดว่า ใช้เส้นทางผ่านสวนสาธารณะเคเทอร์ปาร์กเพื่อไปพบเพื่อนที่นัดไว้ที่ผับบริเวณจัตุรัสเพกเลอร์สแควร์

ฝ่ายสืบสวน คาดว่า น.ส.เนสซา ถูกฆาตกรรมระหว่างเดินผ่านสวนดังกล่าว เนื่องจากพบร่างไร้วิญญาณของเหยื่อในบริเวณใกล้กัน

โจ การ์ริตี หัวหน้าสารวัตรสืบสวนตำรวจนครบาลกรุงลอนดอน ระบุว่า ผู้เสียชีวิตน่าจะใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้นในการเดินไปยังจุดหมาย แต่กลับไม่ถึง ตนทราบดีว่าชาวบ้านในละแวกต่างตกตะลึงกับเหตุที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับทางตำรวจ ยืนยันว่าตำรวจกำลังดำเนินการทุกทางเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาให้ได้ และขอเรียกร้องต่อผู้ที่ทราบเบาะแสเข้ามาให้ข้อมูลกับตำรวจ

นายซูเบล อาห์เหม็ด ลูกพี่ลูกน้องของผู้เสียชีวิต ระบุว่า ครอบครัวยังอยู่ในภาวะช็อก โดยข่าวการเสียชีวิตทำให้ทุกคนอยู่ในภาวะโศกเศร้าเสียใจอย่างไม่สามารถปลอบโยนได้

ทั้งนี้ น.ส.เนสซา มีอาชีพเป็นครูสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษา ย่านลูวิสแฮม ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน โดยนายอาห์เหม็ด ระบุว่า เป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น ตนไม่เข้าใจว่าผู้ที่ลงมือสังหารนั้นทำไปเพื่ออะไร เพราะเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่มากของครอบครัว

ปัญหาความรุนแรงผู้หญิงและเด็กระบาดหนักในสังคมอังกฤษ

คดีฆาตกรรมสุดสะเทือนขวัญข้างต้นเกิดขึ้นให้หลังเพียง 6 เดือน ต่อจากคดีฆาตกรรมนางสาว ซาราห์ เอเวอราร์ด อายุ 33 ปี ซึ่งหายตัวไปในย่านแคล็ปแฮม ทางใต้ของกรุงลอนดอน เมื่อ 3 พ.ค. ก่อนจะมีผู้พบศพในเวลาถึงหนึ่งสัปดาห์ถัดมา ห่างจากจุดสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นไปกว่า 80 กิโลเมตร

ส่วนฆาตกรที่ลงมือสังหารเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ ที่ยอมรับสารภาพว่า ลักพาตัว ข่มขืน และสังหารน.ส.เอเวอราร์ด ส่งผลให้มีหญิงสาวจำนวนมากออกมาแบ่งปันเรื่องราวที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงตามโลกโซเชียล สะท้อนปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในสังคมอังกฤษ

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ ระบุว่า มีผู้หญิงกว่า 200 คน เสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมระหว่างเดือนมี.ค. 2562 ถึงปี 2563 ขณะที่ข้อมูลจากมูลนิธิ Femicide Census พบว่า เฉลี่ยแล้วมีผู้หญิงถูกผู้ชายสังหาร 1 รายในทุก 3 วัน ในประเทศอังกฤษ

มูลนิธิ Femicide Census ยังกล่าวโจมตีนโยบายของรัฐบาลอังกฤษ ด้วยว่าเป็นสิ่งน่าอัปยศ เพราะเพิกเฉยต่อสตรีและเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในลักษณะนี้

ด้านกระแสบนแอพพลิเคชั่นทวิตเตอร์มีผู้คนจำนวนมากต่างแสดงความคิดเห็น ระบุว่า สภาพที่กำลังเป็นอยู่นั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง เช่น นางมัณฑุ รีด หัวหน้าพรรคความเท่าเทียมเพื่อสตรี (WEP) กล่าวโจมตีว่า “สื่อกำลังตั้งคำถามว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหลังเหตุเสียชีวิตของเอเวอราร์ด คำตอบ คือ ไม่มี”

นอกจากนี้ นางรีด ยังกล่าวโจมตีอีกว่า “ความนิ่งเฉยของสื่อและความเงียบงันของสังคมต่อคดีฆ่าเนสซา ซึ่งเป็นบุคคลผิวสี ตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เหยื่อผู้เสียชีวิตแต่ละคนนั้นไม่ได้รับการเคารพและรำลึกถึงอย่างเท่าเทียม”

ปัญหาดังกล่าวเคยได้รับการกล่าวถึงมาแล้วจากนักเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงที่คดีสังหารหญิงผิวขาวอย่าง น.ส.เอเวอราร์ด กำลังถูกสื่อประโคมไปทั่วอังกฤษ โดยเปรียบเทียบให้เห็นถึงความสนใจของสื่อกระแสหลักที่ท่วมท้น เทียบกับการเสียชีวิตของนักเรียนหญิงผิวดำก่อนหน้า ที่สื่อกระแสหลักแทบไม่ให้ความสนใจรายงาน

ศพของน.ส.เบลสซิง โอลูเซกุน นักศึกษาผิวดำ อายุ 21 ปี ของมหาวิทยาลัยธุรกิจ ถูกพบบริเวณชายฝั่งทางใต้ของอังกฤษ เมื่อเดือนก.ย. 2563 แม้ตำรวจภูธร จะไม่สามารถอธิบายสาเหตุการเสียชีวิตได้ แต่ก็ปิดคดีไปโดยที่ไม่สืบหาความพิรุธที่เกิดขึ้น

ด้านสภาเขตกรีนิช ระบุว่า สืบเนื่องจากเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นนั้นทางสภาได้มอบเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือให้กับผู้หญิงไปแล้ว 200 คน โดยเครื่องมีขนาดเล็กสามารถใส่กระเป๋า หรือติดพวงกุญแจได้ ซึ่งเมื่อกดจะส่งเสียงดังไปทั่วบริเวณ

โฆษกสภาเขตกรีนิช ระบุว่า อุปกรณ์เหล่านี้ทางสภาดำเนินการแจกจ่ายให้ประชาชนมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ขณะที่หน่วยงานกู้ภัย Her Majesty’s Inspectorate of Constabulary and Fire & Rescue Services มองว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายระวังป้องกันอยู่ฝ่ายเดียว

พร้อมเสนอว่า หน่วยงานรัฐควรปฏิรูปการทำงานเพื่อป้องกันผู้หญิงและเด็กจากอาชญากรรม โดยตำรวจควรจัดลำดับความสำคัญของการติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุในลักษณะนี้เป็นอันดับแรก

ข้อมูลจากมูลนิธิ Femicide Census ระบุอีกว่า มีผู้หญิงในอังกฤษถูกผู้ชายสังหารไปแล้ว 1,425 ราย ระหว่างปี 2551 ถึง 2561 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 62 ถูกสังหารโดยแฟนหนุ่ม หรืออดีตแฟน-สามี ร้อยละ 15 ผู้ลงมือสังหารเป็นผู้ชายที่เหยื่อรู้จักคุ้นเคย และร้อยละ 8 ผู้ลงมือเป็นชายแปลกหน้าเท่านั้น

นายซาดีก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน กล่าวในรายการ Good Morning Britain ว่า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้เช่นเดียวกันกับปัญหาอื่นๆ และว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องบัญญัติให้พฤติกรรมมุ่งร้ายต่อผู้หญิงเป็นอาชญากรรมเกลียดชัง

ทั้งนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหว Reclaim These Streets จะเป็นผู้นำการจัดกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยให้กับน.ส.เนสซา ในเวลา 19.00 น. บริเวณเพ็กเลอร์ แสควร์ เขตลูวิสแฮม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน