โควิด โอไมครอนส่อระบาดทั่วโลก WHOเตือนความเสี่ยงสูงมาก

โควิด – วันที่ 29 พ.ย. ซีเอ็นบีซีรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า ไวรัสโคโรนาปี 2019 ชนิดกลายพันธุ์โอไมครอน (B.1.1.529) ที่พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้มีความแนวโน้มจะระบาดต่อเนื่องและความเสี่ยงที่จะลุกลามเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกนั้นสูงมาก

ข้อมูลดังกล่าวมาจากการแถลงทางเทคนิคด้านการประเมินความเสี่ยงของ WHO ต่อสมาชิก 194 ชาติ ระบุว่า การระบาดใหญ่ของเชื้อชนิดกลายพันธุ์โอไมครอนนั้นอาจก่อให้เกิดผลร้ายแรงทางด้านสาธารณสุขตามมาในบางพื้นที่

WHO ระบุว่า เหตุผลหลักที่นำไปสู่ผลประเมินข้างต้นมาจากการค้นพบตำแหน่งกลายพันธุ์ของยีนส์หลายตำแหน่งที่อาจทำให้ไวรัสชนิดนี้มีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันและระบาดได้ไวขึ้น หมายความว่า ความเสี่ยงที่จะระบาดไปทั่วโลกนั้นอยู่ในระดับ “สูงมาก”

“ปัจจัยที่มีผลต่อคุณสมบัติข้างต้นในไวรัส อาจนำไปสู่แนวโน้มการระบาดที่สูงขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอื่นของแต่ละพื้นที่ด้วย ดังนั้นทาง WHO ประเมินความเสี่ยงต่อประชาคมโลกต่อการระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์โอไมครอนไว้อยู่ในระดับสูงมาก”

รายงานระบุว่า แม้ทาง WHO จะเตือนภัยและหลายประเทศทั่วโลกทยอยยกระดับมาตรการสกัดกั้นแล้วแต่ยังมีข้อมูลอีกหลายประการที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษาแข่งกับเวลา

WHO ระบุว่า ข้อมูลที่ยังไม่ทราบแน่ชัด คือ ความสามารถในการระบาดที่เพิ่มขึ้นนั้นมากเพียงใด และมาจากความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น หรือความสามารถอื่นๆ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

ข้อมูลอีกส่วนถัดมาที่ยังไม่ทราบแน่ชัด คือ ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ปัจจุบันนั้นมีประสิทธิภาพเพียงใดในการคุ้มครองผู้ได้รับวัคซีนจากการติดเชื้อ ป่วยหนัก และเสียชีวิต รวมทั้งที่สำคัญที่สุด คือ ไวรัสชนิดนี้มีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ เพียงใด

ผู้เชี่ยวชาญจาก WHO กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลาในการศึกษานานหลายสัปดาห์ ทว่า ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ชนิดโอไมครอนนั้นมีความสามารถในการทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วติดเชื้อซ้ำได้มากขึ้น

ขณะที่แนวโน้มการระบาดล่าสุดในแอฟริกาใต้นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจกลายเป็นชนิดหลักแทนที่เดลต้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่อาจลุกลามไปทั่วโลก และแม้แพทย์จากแอฟริกาใต้ จะเคยระบุไว้ว่า ยังไม่พบผู้ติดเชื้อที่ป่วยรุนแรง แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าเชื้อนั้นมีความรุนแรงเพียงใด

WHO เรียกร้องให้นานาชาติยกระดับมาตรการตรวจตราหาผู้ติดเชื้อ และการตรวจหาชนิดเชื้อ เพื่อเร่งหาว่าชนิดโอไมครอนนั้นแพร่ระบาดในชุมชนหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้เร็วที่สุดด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน