ศรีลังกาวางแผนใช้ – วันที่ 22 ธ.ค. บีบีซี รายงานว่า นายราเมศ ปฐิราณา รัฐมนตรีการเพาะปลูกของศรีลังกา แถลงว่า ศรีลังกาวางแผนที่จะใช้ “ชา” เพื่อชำระหนี้ที่เป็นค่าน้ำมันนำเข้าจากอิหร่าน โดยแสดงความหวังที่จะส่งออกชามูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (168 ล้านบาท) ไปอิหร่านแต่ละเดือน เพื่อทยอยชำระหนี้ดังกล่าวมูลค่า 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8,468 ล้านบาท) ซึ่งสมาชิกคณะกรรมการชาของศรีลังกากล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ชาเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศ

REUTERS

นายปฐิราณากล่าวว่า วิธีการชำระเงินดังกล่าวจะไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ หรือการคว่ำบาตรของอเมริกา เนื่องจากชาถูกจัดประเภทเป็น “อาหาร” ตามหลักมนุษยธรรม และไม่มีธนาคารอิหร่านที่ขึ้นบัญชีดำเข้ามาเกี่ยวข้อง

“เราหวังว่าจะส่งชามูลค่า 5 ล้านดอลลาร์แต่ละเดือน เพื่อจ่ายค่าซื้อน้ำมันจากอิหร่านที่รอดำเนินการตั้งแต่ 4 ปีที่ผ่านมา” นายปฐิราณาให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ และว่าโครงการที่แนะนำนี้จะช่วยประหยัดสกุลเงินต่างประเทศที่จำเป็นอย่างยิ่งของศรีลังกา เนื่องจากการชำระหนี้แก่อิหร่านจะดำเนินการในสกุลเงินรูปีของศรีลังกาผ่านการขายชาซีลอน

FILE PHOTO: Gas flares from an oil production platform at the Soroush oil fields in the Persian Gulf, south of the capital Tehran, July 25, 2005. REUTERS/Raheb Homavandi/File Photo

อย่างไรก็ตาม นายโรศัน ราชาทุราย (Roshan Rajadurai) โฆษกสมาคมผู้ปลูกชาซีลอน ซึ่งรวมถึงบริษัททำสวนรายใหญ่ทั้งหมดในศรีลังกา กล่าวว่า รูปแบบการทำธุรกรรมนี้เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวโดยรัฐบาล

“ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกเป็นแน่แท้ เนื่องจากเราจะได้รับเงินเป็นรูปี ซึ่งตีกรอบตลาดเสรีและไม่ได้ให้มูลค่าที่แท้จริงแก่ผู้ส่งออก” โฆษกสมาคมผู้ปลูกชาซีลอนระบุ

ศรีลังกาผลิตชาประมาณ 340 ล้านกิโลกรัมต่อปี ปีที่แล้วส่งออกได้ 265.5 ล้านกิโลกรัม ด้วยรายได้ 1,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (41,840 ล้านบาท) ในปี 2563 ขณะที่ชาวศรีลังกาเกือบร้อยละ ทำงานในอุตสาหกรรมชาที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เก็บใบชาบนเนินเขา และแปรรูปชาในโรงงานเพาะปลูก

ศรีลังกาเงินเฟ้อทุบสถิติ-วิกฤตอาหารจ่อ

วันเดียวกัน เอเอฟพี รายงานตัวเลขทางการศรีลังกาว่า ภาวะเงินเฟ้อของศรีลังกาทุบสถิติที่ร้อยละ 11.1 ในเดือนพ.ย. 2564 ราคาเพิ่มขึ้นที่อัตรารวดเร็วที่สุดตั้งแต่มีดัชนีราคาผู้บริโภคแห่งชาติ (NCIP) ของศรีลังกา ในปี 2558 ด้วยราคาอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปีที่แล้ว

นายอูดิธ จายาสิงห์ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรศรีลังกา แถลงข่าวว่า “เราอาจต้องยืมเมล็ดธัญพืช เช่น ข้าวโพดจากประเทศพันธมิตร และพิจารณาการปันส่วนอาหารเพื่อให้แม่คนและผู้ป่วยได้รับอาหารก่อน คนอื่นอาจต้องเสียสละ”

อย่างไรก็ตาม ภายในกี่ชั่วโมง สำนักงานประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ผู้นำศรีลังกา ประกาศปลดนายจายาสิงห์โดยไม่บอกสาเหตุ และแต่งตั้งบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งแทน

People buy lunch inside a restaurant in Colombo on December 22, 2021. (Photo by AFP)

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ศรีลังกาประสบกับปัญหาหนี้รุนแรงและวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งแย่ลงไปอีกเนื่องจากสูญเสียรายได้นักท่องเที่ยวในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และรัฐบาลสั่งห้ามการนำเข้าจำนวนมากเพื่อหนุนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ จึงเกิดการขาดแคลนสินค้าจำเป็น และซูเปอร์มาร์เก็ตปันส่วนนมผง น้ำตาล ถั่วเลนทิล และสิ่งจำเป็นอื่นๆ หลายเดือน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่มีสกุลเงินดอลลาร์สำหรับการนำเข้า

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารกลางศรีลังกาเผยว่า ทุนสำรองต่างประเทศของศรีลังกาลดลงเหลือ 1,600 ล้านดอลลาร์ (53,987 ล้านบาท) เมื่อสิ้นเดือนพ.ย. 2564

นอกจากนี้ มีรายงานว่า ศรีลังกาจำเป็นต้องชำระหนี้ประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (151,832 ล้านบาท) ในปี 2565 ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการชำระคืนพันธบัตรรัฐบาลระหว่างประเทศมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (16,870 ล้านบาท) ในเดือนม.ค. 2565

นายอจิธ นิวาร์ด กาบรัล (Ajith Nivard Cabraal) ผู้ว่าการแบงก์ชาติศรีลังกากล่าวเมื่อต้นเดือนธ.ค.ว่า รัฐบาลศรีลังกามั่นใจว่า จะสามารถ “ชำระหนี้” ทั้งหมดที่จะถึงกำหนดในปี 2565 ได้อย่าง “ราบรื่น”

ศรีลังกามีหนี้สกุลเงินต่างประเทศสะสมประมาณ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (877,110 ล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2565-2569 และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิตช์ (Fitch) ลดอันดับความน่าเชื่อของศรีลังกาจาก CCC (ซีซี) ลงมาเป็น CC (ซีซี) เนื่องจากเกรงว่า รัฐบาลศรีลังกาจะผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่รัฐบาลยืนยันว่าสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าวได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิด: ศรีลังกาประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อหนัก-ราคาอาหารพุ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน