จีนผุดแผนมหาอำนาจ6G สร้างมาตรฐานการสื่อสารโลก สอดรับยุทธศาสตร์5ปี

จีนผุดแผนมหาอำนาจ6G – วันที่ 13 ม.ค. เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า รัฐบาลจีนเตรียมเดินหน้าอัดฉีดเร่งรัดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารยุคที่หก (6G) และมีส่วนร่วมในการสร้างมาตรฐานการสื่อสารให้ประชาคมโลก ตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติฉบับที่ 14

ข้อมูลดังกล่าวได้รับการเปิดเผยผ่านเอกสารของคณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวถึงแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกเขียนขึ้นให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติฉบับที่ 14 ระยะเวลา 5 ปีของจีน (ปี 2564-2568) มีหนึ่งในหัวใจหลักเป็นเทคโนโลยี 6G

รายงานระบุว่า เทคโนโลยี 6G เป็นการสื่อสารแบบใหม่ที่เป็นภาคต่อของ 5G ซึ่งหลายประเทศยังอยู่ระหว่างการวางเครือข่าย โดยจีนนอกจากเป็นชาติที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนจำนวนมากที่สุด ยังเป็นชาติที่มีโครงข่ายสัญญาณ 5G ครอบคลุมมากที่สุดในโลกด้วย

แผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวของทางการจีนสะท้อนถึงความพยายามของจีนที่จะช่วงชิงบทบาทผู้นำที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารหลังประสบความสำเร็จมาแล้วในกับ 5G พลิกโฉมสถานะของจีนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมการพัฒนา 2G ส่วน 3G และ 4G นั้นมีส่วนร่วม

ข้อมูลจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติของจีน เมื่อเดือนเม.ย. 2564 ระบุว่า ปริมาณสิทธิบัตรเทคโนโลยี 6G ทั่วโลกนั้นมีกว่า 38,000 ฉบับแล้ว โดยจีนเป็นชาติที่มีสิทธิบัตรเทคโนโลยีดังกล่าวมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30

ความเคลื่อนไหวข้างต้นของทางการจีนเกิดขึ้นหลังคณะนักพัฒนาจากสถาบันห้องปฏิบัติการ เพอร์เพิล เมาน์เทน ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอัตราส่งข้อมูลระดับ 6G สูงถึง 206.25 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) เป็นครั้งแรก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สถาบันดังกล่าวเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนา 6G ของรัฐบาลจีน ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยฟู่ตัน นครเซี่ยงไฮ้ และไชน่า โมบาย ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งของโลก

อย่างไรก็ดี บรรดานักวิทยาศาสตร์หลายคน มองว่า เทคโนโลยี 6G นั้นยังเร็วเกินไป และต้องใช้เวลาอีกนานหลายสิบปี เนื่องจากประชาคมโลกยังไม่ได้ตกลงกันในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องอัตราการส่งข้อมูล คลื่นความถี่ที่จะใช้ การมอดูเลตสัญญาณ และรูปแบบกราฟคลื่น

นายเว่ย หรง นักวิเคราะห์จากสถาบันกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า หากมองในแง่ของอุตสาหกรรมการสื่อสารแล้วการประกาศส่งเสริม 6G ตอนนี้นับว่าเร่งรีบเกินไป แต่ก็อาจมีข้อดีในเรื่องการกระตุ้นให้บรรดานักวิจัยเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะมาใช้เตรียมการและรองรับในอนาคต

ทั้งนี้ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู หน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานการสื่อสารภายใต้สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เคยเชิญบรรดาองค์กรภายนอกจากทั่วโลกไปร่วมเสนอข้อแนะนำเกี่ยวกับ 6G แล้ว

ทางไอทียูเคยระบุไว้ว่ามีแผนจะตีพิมพ์รายงาน Vision of IMT beyond 2030 ภายในเดือนมิ.ย.นี้ โดย IMT นั้นหมายถึง การสื่อสารเคลื่อนที่สากล (international mobile telecommunications) คาดว่าจะเป็นแนวทางการวางมาตรฐานของเทคโนโลยี 6G

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน