ย้อมไทม์ไลน์ จุดเริ่มต้นชนวนความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่สถานการณ์ปัจจุบันกำลังตึงเครียดอย่างหนัก

นับเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับทั้งโลก สำหรับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ทวีความตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง วันนี้ทางทีมข่าวสดจะพามาย้อนถึงจุดเริ่มต้นชนวนความขัดแย้งของทั้งสองประเทศที่คุกรุ่นกันมาอย่างยาวนาน

1.ในอดีตยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ต่อมาในปี 1917 ราชวงศ์โรมานอฟหมดอำนาจ กลุ่มชาตินิยมยูเครนจึงแยกตัวออกไปเป็นประเทศ โดยมีเยอรมนีหนุนหลัง

ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีได้แพ้สงคราม ประกอบกับมีการก่อตั้งสหภาพโซเวียต ยูเครนจึงถูกรวมอยู่ในโซเวียตและสถาปนาเป็น “สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน”

2.ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อิทธิพลของรัสเซีย (สหภาพโซเวียตในขณะนั้น) เริ่มคุกคามมายังภูมิภาคยุโรป ดังนั้น 12 ชาติตะวันตกจึงร่วมกันก่อตั้ง “นาโต (NATO)” หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการทหาร ให้ประเทศสมาชิกให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันกรณีที่สมาชิกถูกโจมตีด้วยอาวุธ

ส่วนทางฝั่งโซเวียตก็ได้ก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์ (Warsaw Pact)” ขึ้นมาเพื่อตอบโต้นาโต เป็นพันธมิตรทางทหารในหมู่ชาติคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก

3.ในปี 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลาย ยูเครนได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต ด้านโรงงานจัดเก็บอาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียตที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของยูเครน ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของยูเครนไปโดยปริยาย และหลายประเทศที่เคยเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์ก็หันไปเข้าร่วมนาโตแทน ส่วนยูเครนนั้นยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก

4.ในปี 1992 ยูเครนเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับนาโตอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก็ตาม ขณะนั้นรัสเซียยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จึงยังไม่ได้ให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวของบรรดาอดีตประเทศในโซเวียตนัก

5.ในปี 1994 ยูเครนได้เซ็นสนธิสัญญาในชื่อ “ข้อตกลงบูดาเปสต์” ร่วมกับรัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยยูเครนได้ตัดสินใจทำลายคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด เพื่อแลกกับการที่มหาอำนาจทั้งสามจะรับประกันความปลอดภัยให้ ไม่มีการคุกคามหรือใช้กำลังกับยูเครน

6.ในปี 2013 สหภาพยุโรป หรือ EU ได้เสนอเงื่อนไขยูเครนเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิก ซึ่งถือเป็นจุดทดสอบว่ายูเครนจะเข้าร่วมฝั่งตะวันตก หรือ จะกลับเข้าสู่อ้อมอกรัสเซียอีกครั้ง ซึ่งหากยูเครนตอบตกลง ประชาชนจะสามารถไปทำงานทั่วยุโรปได้อย่างอิสระ สินค้าสามารถวางขายในประเทศอื่น ๆ สหภาพยุโรปได้โดยไม่โดนกำแพงภาษี ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

แต่ขณะนั้น ยูเครนอยู่ภายใต้การของ “ประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช” ที่เชื่อกันว่าเขาได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ประธานาธิบดียานูโควิชได้ตัดสินใจล้มข้อเสนอของ EU แล้วไปลงนามกับรัสเซีย พร้อมทั้งรับเงินสนับสนุน 15,000 ล้านดอลลาร์จากรัสเซีย

7.ประชาชนยูเครนรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก มองว่าคล้ายกับเป็นการขายประเทศ จนนำไปสู่การประท้วงทั่วประเทศ ในชื่อ “การปฏิวัติ Euromaidan” เรียกร้องให้ประธานาธิบดียานูโควิชลาออก ซึ่งการต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด จนรัฐบาลสั่งใช้กำลังสลายการชุมนุม

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐสภายูเครนลงมติมีแผนถอดถอนประธานาธิบดียานูโควิชในวันที่ 22 ก.พ. 2014 และตั้งรัฐบาลรักษาการชั่วคราว พร้อมตั้งข้อหายานูโควิชในข้อหาสังหารหมู่ผู้ประท้วงและออกหมายจับ แต่ก่อนจะถูกถอดถอนอย่างเป็นทางการ ยานูโควิชก็ได้ตัดสินใจหลบหนีไปยังรัสเซีย

8.ทางด้านรัสเซีย เมื่อเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนก็ได้ออกมาประณาม การที่รัฐบาลยูเครน ถอดถอนยานูโควิชเป็นการรัฐประหารที่ผิดกฎหมาย พร้อมส่งทหารรัสเซียติดอาวุธมายังบริเวณคาบสมุทรไครเมียทันที

โดยไครเมียเป็นคาบสมุทร (Peninsula) ที่อยู่ในทะเลแบล็คซี มีเขตแดนติดกับยูเครนและมีชนส่วนใหญ่เป็นรัสเซีย เพราะในประวัติศาสตร์ไครเมียเคยเป็นดินแดนของรัสเซียมาก่อน แต่ในปี 1954 ผู้นำของสหภาพโซเวียตตัดสินใจมอบไครเมียให้ยูเครน เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและรัสเซีย

9.ในเดือนมี.ค. 2014 จากแรงกดดันของกองทหารรัสเซียที่เข้าประชิดและควบคุมคาบสมุทร ทางรัฐสภาไครเมียจึงมีมติให้แยกตัวจากยูเครนและเข้าร่วมกับรัสเซีย ทำให้รัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศได้สำเร็จ

10.รัฐบาลยูเครนไม่ยอมรับการผนวกไครเมียร่วมกับรัสเซีย โดยประกาศว่าไครเมียเป็นดินแดนของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดไว้ชั่วคราว เช่นเดียวกับสหประชาชาติ ซึ่งมีมติไม่ยอมรับและประณามการผนวกรวมไครเมียเข้ากับรัสเซียว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

11.นอกจากไครเมียแล้ว ยูเครนยังต้องเผชิญการสู้รบกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในภูมิภาคดอนบาส (Donbas) ทางตะวันออกของประเทศ โดยรัสเซียส่งกำลังพลบุกเขตดอนบาสอย่างหนัก

12.ต่อมา ในเดือนก.ย. 2014 ตัวแทนจากรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศส และเยอรมนี ร่วมประชุมกันที่เบลารุส เพื่อเจรจายุติความรุนแรงในภาคตะวันออกของยูเครน นำไปสู่ “ข้อตกลงมินสก์ฉบับที่ 1 (Minsk I Agreement)” ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างยูเครนและรัสเซียในการยุติความรุนแรง โดยตกลงหยุดการยิงอาวุธ แต่รัสเซียก็ยังมีการละเมิดข้อตกลงนี้หลายครั้ง

สุดท้ายทางฝรั่งเศสกับเยอรมนีต้องเข้ามาเป็นคนกลาง ทำให้ต้องมีการลงนามข้อตกลงมินสก์ฉบับที่ 2 (Minsk II Agreement) แม้สงครามใหญ่จะยุติลง แต่ก็ยังมีการสู้รบประปรายต่อเนื่องอยู่ดี โดยตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน เหตุปะทะชายแดนรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 10,000 คน บาดเจ็บอีกหลายหมื่นคนและมีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 1 ล้านคน

13. ในปี 2019 เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญ เมื่อ “โวโลดิมีร์ เซเลนสกี” ถูกเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของยูเครน เขาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า “ต่อต้านการรุกคืบของรัสเซียในภาคตะวันออกของประเทศ รวมถึงมีแผนการที่จะพายูเครน เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของนาโต”

14.โดยทางวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ได้ออกมากล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัสเซียพยายามเจรจาให้โลกตะวันตกเข้าใจมาตลอดว่า สิ่งที่รัสเซียต้องการคือ นาโตปฏิเสธไม่รับยูเครน, นาโตถอดกองทัพออกจากโปแลนด์ โรมาเนีย และบัลกาเรีย และยูเครนต้องยอมรับอาณาเขตดอนบาสและไครเมียเป็นของรัสเซียแล้ว

15.สถานการณ์ขัดแย้งเริ่มบานปลาย เมื่อรัสเซียส่งทหารราว 130,000 นายไปประชิดพรมแดนยูเครนโดยใช้ข้ออ้างว่าเป็นการซ้อมรบทางทหาร หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดสงครามขึ้นมาจริง ๆ ส่งผลให้ชาติตะวันตกจำนวนมากไม่พอใจการกระทำของรัสเซีย มองว่าคือยูเครนเป็นประเทศอิสระ หากอยากจะร่วมกับนาโตหรือไม่ ก็เป็นอธิปไตยของชาตินั้น

16.ด้านประธานาธิบดีปูตินออกข้อเรียกร้องให้นาโตมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ยูเครนเป็นสมาชิกโดยถาวร และต้องถอนกำลังที่ประจำการอยู่ในประเทศที่เข้าร่วมนาโตหลังปี 1997 ทั้งหมด

17.สถานการณ์รุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้น เมื่อทางประธานาธิบดีปูตินได้ลงนามในกฤษฎีการับรองสถานะของลูฮันสก์และโดเนตสก์ที่ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช เตรียมยก 2 จังหวัดนี้เป็นประเทศ พร้อมทั้งสั่งให้กองทหารรัสเซียบุกเข้าไปในเขตจังหวัดโดเนตส์และลูฮันส์ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเข้าไปป้องกันสันติภาพจากการรุกรานของยูเครน

18.ด้านยูเครนรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะโดเนตส์และลูฮันส์ถือเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน การที่รัสเซียทำแบบนี้ราวกับเป็นการบุกรุกดินแดน ส่งผลให้สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนยิ่งเป็นที่น่าจับตา ทั่วโลกต่างเฝ้ามองว่าบทสรุปของการต่อสู้ทั้งสองประเทศจะลงเอยอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน