โอกาสสุดท้าย ยูเอ็นเผยข่าวร้ายโลกร้อน-จี้แก้ไขต้องเร็วแรงเริ่มทันที

โอกาสสุดท้าย – วันที่ 5 เม.ย. บีบีซีรายงานว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เปิดเผยแผนแม่บทการจำกัดผลกระทบร้ายแรงจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อนที่ทะลุขีดจำกัดแล้ว พร้อมเตือนว่าจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว รุนแรง และเริ่มในทันที

รายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี หนึ่งในองคาพยพของยูเอ็น ระบุว่า การดำเนินการตามแผนแม่บทจะต้องบรรลุถึงขั้นสูงสุดภายใน 3 ปีนับจากนี้ หากต้องการจำกัดผลกระทบสุดขั้วจากปัญหาโลกร้อน

โอกาสสุดท้าย

ไอพีซีซี ระบุว่า หากเป้าหมายดังกล่าวสามารถบรรลุได้ ประชาคมโลกยังจำเป็นต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (หนึ่งในสาเหตุโลกร้อน) ออกจากชั้นบรรยากาศโลกด้วย และจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 21

คำเตือนและคำแนะนำข้างต้นเกิดขึ้นภายหลังการประชุมระหว่างนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานนานาชาติเพื่อตรวจทานและรับรองรายงานฉบับล่าสุดของไอพีซีซีแบบบรรทัดต่อบรรทัดเสร็จสิ้นลง ส่งผลให้ยูเอ็นสามารถเผยแพร่รายงานดังกล่าวได้อย่างเป็นทางการต่อสังคมเพื่อเป็นแนวทางให้ประชาคมโลกใช้ หากต้องการจำกัดผลกระทบร้ายแรงจากภาวะโลกร้อน

เริ่มด้วยข่าวร้าย…

รายงานระบุว่า แม้นโยบายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซก่อโลกร้อนจะถูกกำหนดและเริ่มดำเนินการได้อย่างพร้อมเพรียงโดยนานาชาติทั่วโลกเมื่อปีค.ศ. 2020 แต่ข้อมูลล่าสุดพบว่าไม่เพียงพอ เพราะโลกจะยังมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียส ภายในคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า รัฐบาลและบรรดาเอกชนของบางชาติกล่าวแบบหนึ่ง แต่มีพฤติกรรมอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือโกหก และผลลัพธ์ต่อจากนี้ไปคือความเสียหายแบบสุดขั้ว

นายกูเตร์เรส กล่าวต่อว่า ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นมาจากคลื่นความร้อนรุนแรง พายุขนาดใหญ่ที่น่าสะพรึงกลัว และภาวะขาดแคลนน้ำที่จะลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งการจะหลีกเลี่ยงนั้นจะต้องรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้ทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส

อย่าเพิ่งหมดหวัง…

รายงานของไอพีซีซี ระบุว่า การดำเนินการเพื่อจำกัดผลกระทบสุดขั้วนั้นสามารถทำได้จริงบนพื้นฐานของค่าใช้จ่ายของนานาชาติ ทว่า การสกัดกั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นมากกว่านี้ จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ทั้งในอุตสาหกรรมพลังงาน การขนส่ง และการบริโภค รวมถึงการยุติพฤติกรรมทำลายล้างธรรมชาติด้วย

การประเมินของคณะผู้จัดทำรายงาน พบว่า การจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นปริมาณก๊าซก่อโลกร้อนจะต้องสูงสุดภายในปีค.ศ. 2025 และลดลงต่อเนื่องหลังจากนั้นเป็นต้นไปจนกระทั่งหักล้างกับปริมาณในอดีตได้หมดภายในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 21 กล่าวคือ เหลือเพียงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นภายในทศวรรษก่อนหน้าเท่านั้น

ศาสตราจารย์ ดร.เฮลีน เดอ คอนิน์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ข้อมูลที่พบสะท้อนว่ามนุษย์มาถึงจุดแตกหักแล้วถ้าหากต้องการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ไม่ให้เพิ่มสูงกว่า 1.5 องศา

“ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เราต้องถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2025 แล้วลดลงต่อจากนั้น ส่วนครึ่งหลังของศตวรรษนี้ หรือหลังปี 2050 เราก็ต้องนำก๊าซชนิดนี้ออกจากชั้นบรรยากาศโลกให้ได้” ศ.ดร.คอนิน์ก ระบุ

เส้นตาย…

คณะผู้จัดทำรายงาน ระบุว่า ต่อจากนี้ไปนั้นนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดแล้วของการดำเนินการ เพราะหากปริมาณก๊าซโลกร้อนไม่ลดลงตามเป้าหมายภายในปี 2030 การรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงทะลุเกณฑ์ข้างต้นจะเป็นไปไม่ได้อีก

กุญแจสำคัญอยู่ที่อุตสาหกรรมพลังงานที่มนุษย์จำเป็นต้องหันมาพึ่งพิงพลังงานสะอาดให้มากขึ้น เช่น พลังงานลมและแสงแดด ซึ่งมีต้นทุนลดลงถึงร้อยละ 85 ในทศวรรษที่ผ่านมา

นางไคซา โคโซเนน หนึ่งในผู้สังเกตการณ์การประชุมจากกลุ่มกรีนพีซ หนึ่งในองค์การสาธารณประโยชน์ หรือเอ็นจีโอระดับโลก กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นถือว่าถึงกาลอวสานแล้ว

โอกาสสุดท้าย

“ไม่มีช่องทางเหลือให้กับการพัฒนาพลังงานจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่ง ณ จุดนี้ เราต้องทยอยปิดโรงงานเหล่านี้ก่อนกำหนดลงทั้งหมด” นางโคโซเนน ระบุ

อย่างไรก็ดี รายงานชี้ว่ามนุษย์จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วย ซึ่งจะเป็นอีกกุญแจสำคัญในการลดการปลดปล่อยก๊าซก่อโลกร้อน โดยจากการประเมินพบว่าจะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 40 ถึง 70 ภายในกลางศตวรรษนี้

ดูดซับก๊าซโลกร้อนออกจากชั้นบรรยากาศโลก

หนึ่งในหัวข้อที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในวงการวิทยาศาสตร์นั้นเป็นข้อแนะนำในรายงานถึงหนทางการดูดซับก๊าซโลกร้อนออกจากชั้นบรรยากาศโลก ที่ถูกระบุไว้ว่าทำได้หลากหลายวิธี อาทิ การปลูกต้นไม้ และการปฏิรูปเกษตรกรรม

อย่างไรก็ดี การประเมินของไอพีซีซีพบว่า การปลูกป่าอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ และมนุษย์จำเป็นจะต้องมีนวัตกรรมเพื่อดูดซับก๊าซโลกร้อนออกจากชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้หลายฝ่ายวิตกเนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นยังใหม่ และมีราคาแพงมาก

ศ.ดร.อาร์เธอร์ พีเตอร์สัน จากมหาวิทนาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมการประชุมยูเอ็น กล่าวแสดงความกังวล ว่าหนทางที่ระบุไว้ในรายงานนั้นหลายเรื่องเป็นเหมือนการวาดวิมานในอากาศ และเป็นไปได้ยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน