อียูร่วมมือภูเก็ต รณรงค์ปลูกจิตสำนึกจัดการขยะทะเล ความท้าทายก่อนและหลังโควิด-19

คณะสื่อมวลชนได้ติดตามทีมงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันหรือ GIZ ประจำประเทศไทยในพิธีปิดโครงการจัดการและลดพลาสติกภาคครัวเรือนและธุรกิจ จังหวัดภูเก็ต หรือLess Plastic Phuket ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล

ความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมรวมถึงศิลปินจิตอาสา

เราเห็นการลดขยะพลาสติกตั้งแต่เริ่มกิจกรรม ไม่ว่าอาหารว่างที่นำมาเสิร์ฟบรรจุในห่อใบตองตกแต่งด้วยดอกเฟื่องฟ้ามัดด้วยเส้นใยกล้วย ขนมใส่ใส้ ข้าวกลางวันในภาชนะที่ย่อยสลายได้ รวมถึงของที่ระลึกจากงานเป็นพวงกุญแจรูปปลากระเบน ทำจากพลาสติกที่รีไซเคิลแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ ผลิตในจ.ภูเก็ต พร้อมข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับมลพิษจากขยะพลาสติกว่า เป็นปัญหาใหญ่ของโลก ไมโครพลาสติกเป็นวัสดุที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งไม่ได้ย่อยสลายตามธรรมชาติ แต่เปลี่ยนเป็นชิ้นส่วนขนาดจิ๋วเรียกว่า ไมโครพลาสติก ซึ่งมาจากเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ ยางของยานพาหนะและผลิตภัณฑ์ไมโครบีดส์ ในผลิตภัณฑ์สุขอนามัยทั้งหลาย

ประมาณว่า เราบริโภคไมโครพลาสติก 5 กรัมทุกสัปดาห์ น้ำหนักเท่าบัตรเครดิต 1 ใบ และพบในน้ำนมของมนุษย์และรกในทารกที่ยังไม่ลืมตาดูโลก ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ การทำงานผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหาร โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและมะเร็ง

ไมโครพลาสติก สามารถแทรกซึมลงไปในชั้นดิน แหล่งน้ำและปนเปื้อนลงในอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่าย และหากเราไม่มีการกำจัดขยะพลาสติกเหล่านี้อย่างถูกต้อง จะส่งผลให้ขยะจากบกปะปนและลงสู่ทะเล และทำให้สัตว์ทะเลกินพลาสติกเข้าไป เกิดอาการป่วยและเสียชีวิตในที่สุด

ความร่วมมือระดับโลกสู่ท้องถิ่น

จากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นอีพีระบุว่า ประมาณร้อยละ 60-90 ของขยะทะเลประกอบไปด้วยพลาสติก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเป็นบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและผลิตภัณ์ เช่น หลอดหรือถุงพลาสติก โดยขยะพลาสติกราว 5 ล้านตันจากทั้งหมด 13 ล้านตันจะถูกพบในทะเลทุกปี

องค์กรอนุรักษ์มหาสมุทร หรือ Ocean Conservancy เอ็นจีโอ รายงานว่า ชาติอาเซียน 3 ชาติได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และจีน ทิ้งขยะลงท้องทะเลมากที่สุดในปี 2558

จากที่ในอดีตอียูเป็นผู้ส่งออกขยะพลาสติกมายังจีน รวมถึงไทยอันดับต้นๆของโลก แต่ขณะนี้ อียูรับรองกฎใหม่ห้ามส่งออกขยะพลาสติกจากอียูไปยังชาติที่ไม่ใช่สมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือโออีซีดีรวมถึงไทย ยกเว้นขยะพลาสติกเพื่อรีไซเคิล

นายวิโรจน์ ภู่ต้อง ประธานมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตในฐานะจังหวัดท่องเที่ยวก็ประสบกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกเช่นเดียวกัน แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวลดลง อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านยังเป็นตัวแปรในการกระตุ้นให้เกิดการใช้พลาสติกอย่างต่อเนื่อง

นายวิโรจน์ ภู่ต้อง ประธานมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต

 

ผลการดำเนินงานทำให้เกิดการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งถึง 15,170 ชิ้นจากกิจกรรมสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ทดแทนและแอพพลิเคชันตามสั่ง-ตามส่ง การสนับสนุนกลุ่มอาสาสมัครและเครือข่ายเก็บขยะชายหาดและทะเล 8 กลุ่มทั่วจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเก็บขยะไปแล้วมากกว่า 3,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ในการสนับสนุนการเก็บขยะทะเลอีก 9 พื้นที่จาก 4 ชุมชน และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามและป้องกันขยะพลาสติกลงสู่ทะเล

นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า เป็นโครงการที่มีการวางแผนก่อนโควิด-19 ระยะเวลาดำเนินงานราว 1 ปีครึ่งซึ่ง GIZ ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษในการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งไทยก็มีโรดแม็ปการกำจัดขยะพลาสติกของประเทศไทย ค.ศ. 2561-2573 ซึ่งมีความสอดคล้องกันกับแผนปฏิรูปสีเขียว ระเบียบว่าด้วยการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของอียู

“ในจ.ภูเก็ตมีการผูกอาหาร ทางมูลนิธิจึงส่งเสริมให้ใช้ปิ่นโต วัสดุที่ถาวร หรือถ้าเป็นวัสดุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ ก่อนโควิด-19 จ.ภูเก็ตมีขยะราว 1,000 ตันต่อวัน แต่ในระหว่างโควิด-19 แพร่ระบาด ขยะลดลงเล็กน้อยเหลือราว 600-700 ตันต่อวัน โดยร้อยละ 50-60 เป็นขยะอินทรีย์ ส่วนที่เหลือเป็นขยะทั่วไป เป็นกระแสโลกที่เราจำเป็นต้องทำ เพราะมีงานวิจัยว่าไมโครพลาสติกอยู่ในกระแสเลือดของคนแล้ว” นายวิโรจน์กล่าว

กลุ่ม BABA Waste

สำหรับความท้าทาย ภูเก็ตควรทำการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดได้แล้ว ไม่เช่นนั้น ภูเก็ตต้องทุ่มงบประมาณค่อนข้างเยอะไปกับการจัดการขยะ การจัดการขยะภาคครัวเรือน การตระหนักรู้ในการใช้ประโยชน์จากขยะก่อนทิ้งในครัวเรือนยังมีน้อย ซึ่งขยะที่ขายได้ ยังใช้ได้ควรมีการคัดแยกก่อน และทิ้งเท่าที่จำเป็น

แม้โครงการสิ้นสุดลง แต่มูลนิธิยังคงดำเนินงานนี้ต่อไป เนื่องจากการทำโครงการทำให้มีเครือข่ายเกิดขึ้นมากมาย อาทิ กลุ่ม BABA Waste ซึ่งออกแบบถุงขยะพลาสติกที่แบ่งตามประเภทและสามารถย่อยสลายได้ ซึ่งทางมูลนิธิให้ความสนใจที่จะใช้ถุงขยะพลาสติกดังกล่าว เมื่อถามว่าขยะพลาสติกในทะเลภูเก็ตเกิดขึ้นได้อย่างไร อ.วิโรจน์ระบุว่า ภูเก็ตมีชุมชนริมทะล หรือขยะจากต่างประเทศที่ถูกพัดเข้ามาตามฤดูมรสุม

ด้านนายอัลวาโร่ ซูริต้า ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล จาก GIZ ระบุว่า พอใจกับผลลัพธ์ เราต้องตระหนักว่าโครงการนำร่องถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้ที่สามารถให้ประสบการณ์หรือบทเรียนที่ดี การทำงานช่วงโควิด-19 เปลี่ยนทุกอย่าง แม้ยากแต่ทางทีมงานประสบความสำเร็จ ซึ่งก็คือ เราทำงานใกล้ชิดมากขึ้นในระดับท้องถิ่น เช่น มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต

ทีมยุโรปรวมถึงดร.แบนท์ คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย และนายอัลวาโร่ ซูริต้า ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล

นอกจากนี้ ยังเสริมอีกว่า หัวใจหลักสำคัญในการดำเนินโครงการ ก็คือ การทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้วยกัน หากเราไม่ได้แรงสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต โครงการก็ไม่สามารถดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะพลาสติกได้

นายซูริต้ากล่าวถึงความท้าทายของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำมาเป็นแนวทางจัดการขยะทะเลว่า เราต้องเปลี่ยนทุกสิ่งในใจของเรา เพื่อทิ้งระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง คือสินค้าถูกผลิต จากนั้นใช้งานหรือบริโภคแล้วทิ้ง แต่เศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจที่ต้องคำนึงถึงวัฏจักรของสินค้าว่าปลายทางสุดท้ายจะสิ้นสุดที่ไหนแล้วนำกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ต้องอาศัยการจูงใจภาคเอกชน รัฐบาล ภาคประชาสังคม เพื่อทำให้แก่นของเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นที่รู้จักและถูกนำไปใช้

ขณะนี้คนในภูเก็ตส่วนใหญ่เข้าใจสาระสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการป้องกันและจัดการขยะพลาสติก โครงการนำร่องและบทเรียนนี้ควรเป็นพื้นฐานของตัวแบบในโครงการอื่นๆที่เกี่ยวข้องและควรมีส่วนช่วยเสริมนโยบายการพัฒนา

นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว ส่งผลให้ภูเก็ตสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยและขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นตามอัตราการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว สำหรับภาครัฐ ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม โดยเน้นการลดและการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

นายจูเซปเป บูซินี่ อัครราชทูตและรองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปหรืออียูประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เราได้เห็นคุณค่าของการบูรณาการระหว่างความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่เข้าสู่ระดับนโยบาย นอกจากนี้เรายังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างโครงการใน 7 ประเทศภาคี ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม รวมถึงระหว่างทวีปยุโรปและเอเชียด้วย

ดร.แบนท์ คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เน้นย้ำว่า รัฐบาลเยอรมนีถือว่าการเร่งหาทางออกปัญหาขยะทะเลถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการนำระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมาปรับใช้ นับเป็นสองแนวปฎิบัติที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยได้จัดลำดับปัญหานี้ให้เป็นประเด็นสำคัญลำดับแรกในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ซึ่งเยอรมนีและไทยได้มีความร่วมมือในการปกป้องสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน

ปลูกจิตสำนึกการคัดแยกขยะในเยาวชน

นางสาวปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต ประธานมูลนิธิคุณ กล่าวว่า ทางมูลนิธิคุณ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างการรับรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง จึงเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะให้แก่เยาวชนไทย โดยเริ่มจากในโรงเรียน เพราะเยาวชน คือ กลุ่มเป้าหมายและเป็นกำลังสำคัญที่พร้อมเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแยกขยะได้ดีที่สุด โดยในวันงาน มูลนิธิคุณเลือกใช้ละครหุ่นเชิด ที่ชื่อ “DoDO ดูดู้ปลาวาฬน้อยท้องผูก” ที่มีผองเพื่อน เช่น กวาง ปลาดาว สุนัขจรและลุงนกฮูก มาแสดงสดให้น้องๆ เยาวชนและผู้เข้าร่วมงานช่วยกันค้นหาความจริงว่าทำไมดูดู้ปลาวาฬน้อยถึงท้องผูก และจะช่วยดูดู้ได้อย่างไร

มูลนิธิคุณได้จัดทำสื่อการสอนที่ชื่อ “DoDo & Friends” ที่ตรงกับแนวทางของโครงการที่ต้องการลดขยะในทะเล และสอนให้เยาวชนตระหนักถึงอันตรายของไมโครพลาสติกแบบเข้าใจง่าย เพื่อนำความรู้กระจายไปตามโรงเรียนต่างๆ ในภูเก็ตและตามสื่อโซเชี่ยล เรื่องราวของปลาวาฬน้อยจะช่วยให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาและได้รับความสนุกควบคู่ไปกับความรู้ในการแยกขยะประเภทต่างๆ

เด็กๆจากชุมชนหาดราไวย์

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังได้เชิญก้อง สหรัถ สังคปรีชา ที่มีจิตอาสามาร่วมงานในวันนี้ โดยก้องดีใจที่มีหน่วยงานต่างๆ มารวมตัวกันในงานนี้ เพราะที่ผ่านมาก้องสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของมูลนิธิคุณมาโดยตลอด ทั้งช่วยผลิตสื่อเกี่ยวกับการลดการใช้พลาสติกและการแยกขยะให้ถูกวิธี ร่วมกิจกรรมการปั่นจักรยานเพื่อลดฝุ่นและเสริมสร้างสุขภาพ

เยาวชนพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการขยะพลาสติกของตนเอง

 

นายกฤชพล จันทรประทักษ์ เจ้าของโครงการ Rosemary-โรสแมรี่

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเพื่อตระหนักถึงการลดขยะ อาทิ บูธ “Rosemary อาหารดีราคาประหยัด” โครงการนำขยะอาหารหรืออาหารเหลือแต่มีคุณภาพมาจำหน่ายในราคาประหยัดของนายกฤชพล จันทรประทักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ สาขาธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ภูเก็ต โดยได้แรงบันดาลใจมาจากยินดี แอพพลิเคชั่น ที่ได้ไปฝึกงานและนำความรู้และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม

นายกฤชพล ระบุว่า Rosemary มีกลุ่มเฟซบุ๊ก โครงการได้ทำวิจัยทั้งในแง่ของอาหารว่าประเภทไหนที่เก็บได้นาน มากน้อย อย่างไร อาทิ อาหารที่ไม่เสี่ยงหมดอายุระหว่างทางอย่างเบเกอรี่ ซึ่งมีการทำวิจัยอาหารต่างๆร่วมกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่มาของอาหารมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านคาเฟ่ในภูเก็ต ขณะนี้ร้านค้าที่เข้าร่วมราว 75 ร้านค้าทั่วภูเก็ต มีผู้เข้าร่วมในเวลา 3 สัปดาห์ราว 1,500 คน

ปัจจุบันทางโครงการยังไม่มีรายได้ ยังไม่มีการลงทุนในโครงการ และกำลังหารือกับสถาบันวิจัยอาหารและนวัตกรรม ม.มหิดลเพื่อส่งออกขยะอาหารสู่สากล นายกฤชพล ยังระบุถึงธุรกิจขยะอาหารในไทยว่า ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติเข้ามาลงทุน

…………..

สุจิตรา ธนะเศวตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน