มหาธีร์ พูด มาเลเซียควรอ้างสิทธิเหนือสิงคโปร์-หมู่เกาะรีเยาของอินโดนีเซีย

วันที่ 21 มิ.ย. สเตรตส์ไทม์ รายงานว่า อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาธีร์ โมฮัมหมัด กล่าวว่า สิงคโปร์เคยเป็นของรัฐยะโฮร์ และรัฐยะโฮร์ควรอ้างสิทธิเหนือสิงคโปร์ เพื่อกลับสู่รัฐยะโฮร์และมาเลเซีย

มหาธีร์กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ไม่มีความต้องการใดๆ ของสิงคโปร์ เราแสดงความชื่นชมต่อความเป็นผู้นำของประเทศใหม่ที่เราเรียกสิงคโปร์”

มหาธีร์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมาเลเซียถือว่า การที่มาเลเซียชนะการครอบครองเหนือเกาะสิปาตันและลีกีตัน นอกชายฝั่งเกาะบอร์เนียว จากการต่อสู้กับอินโดนีเซีย ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) มีความคุ้มค่ามากกว่า เทียบกับการสละเกาะเปดราบรังกา ซึ่งเป็นก้อนหินขนาดเท่าโต๊ะ แก่สิงคโปร์

“เราควรเรียกร้องไม่เพียงให้เกาะเปดราบรังกา หรือปูเลาบาตูปุเตะฮ์ในมาเลเซีย กลับคืนมาแก่เรา แต่ยังควรเรียกร้องสิงคโปร์ตลอดจนหมู่เกาะรีเยาด้วย (ตอนนี้เป็นของอินโดนีเซีย) เนื่องจากเป็นดินแดนมลายู (Tanah Melayu)” มหาธีร์เสริมและเรียกเสียงปรบมือจากผู้ฟัง

มหาธีร์

มหาธีร์ โมฮัมหมัด / ASTRO AWANI

อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 96 ปี กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มิ.ย ที่งานในรัฐสลังงอร์ ที่จัดโดยองค์การนอกภาครัฐหลายแห่ง ภายใต้ร่มสภาเพื่อความอยู่รอดของคนมาเลย์ (Congress for Malay Survival) และหัวข้อในงานดังกล่าวมีชื่อ ฉันเป็นคนมาเลย์: ความอยู่รอดเริ่มต้น (I am Malay: Survival Begins)

มหาธีร์พูดในการกล่าวเปิดงานดังกล่าว ซึ่งแพร่ภาพสดในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ดินแดนมลายูเคยกว้างขวางซึ่งทอดยาวตั้งแต่คอคอดกระทางใต้ของประเทศไทยไปตลอดทางถึงหมู่เกาะรีเยาและสิงคโปร์ แต่ตตอนนี้ถูกจำกัดอยู่กับคาบสมุทรมลายู

“ผมสงสัยว่า คาบสมุทรมลายูจะเป็นของคนอื่นในอนาคตหรือไม่” มหาธีร์กล่าวและยังว่า มาเลเซียวันนี้ไม่ได้เป็นของภูมิบุตร เนื่องจากคนมาเลย์จำนวนมากยังยากจนและมีแนวโน้มที่จะขายที่ดินของตัวเอง

“หากเราพบว่าเราผิด เราควรแก้ไขความผิดเหล่านี้ เพื่อให้ที่ดินของเรายังเป็นที่ดินของคนมาเลย์” มหาธีร์กล่าว

ดินแดนมาเลย์

ดินแดนมาเลย์ในอดีต / Wikimedia Commons

ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินในปี 2545 ว่า เกาะลีกีตันและเกาะซีปาตันเป็นของมาเลเซีย และไม่ใช่เป็นของอินโดนีเซีย ต่อมาในปี 2561 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินว่า เกาะเปดราบรังกาเป็นของสิงคโปร์ ขณะที่อธิปไตยเหนือเกาะมิดเดิลร็อกส์ที่อยู่ใกล้เคียงเป็นของมาเลเซีย

และในปี 2560 มาเลเซียยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขคำตัดสินนี้ ทว่าในเดือนพ.ค. 2561 หลังมหาธีร์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง มาเลเซียประกาศยุติการดำเนินคำร้องดังกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สิงคโปร์-มาเลเซียเปิดพรมแดนทางบกคึกคัก หวังฟื้นเศรษฐกิจ หลังปิดมา 2 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน