ออสซี่สกัดผู้ย้ายถิ่น ขีดเส้นปีหน้ารับนักศึกษาต่างชาติไม่เกิน2.7แสน
ออสซี่สกัดผู้ย้ายถิ่น – วันที่ 27 ส.ค. รอยเตอร์รายงานว่า ทางการออสเตรเลียประกาศโควต้านักศึกษาต่างชาติปี 2568 ไม่เกิน 270,000 คน เพื่อพยายามลดตัวเลขผู้อพยพย้ายถิ่นที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้ราคาเช่าที่อยู่อาศัยขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
นางเจสัน แคลร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีปริมาณนักศึกษาจากต่างชาติมากกว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ถึงร้อยละ 10 และนักศึกษาฝึกงานและเข้ารับการฝึกอบรมพิเศษมากกว่าช่วงดังกล่าวถึงร้อย 50
มาตรการใหม่จะส่งผลให้ปริมาณนักศึกษาต่างชาติในออสเตรเลียปีหน้าถูกจำกัดไว้ที่ไม่เกิน 145,000 คน ซึ่งเป็นปริมาณเทียบเท่าที่มีอยู่ในปีนี้ และอีกไม่เกิน 95,000 คน สำหรับการฝึกงานและฝึกอบรมพิเศษ
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลออสเตรเลียส่งผลให้มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นออกแถลงการณ์ระบุถึงโควต้าใหม่ของรัฐบาล ว่าอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบและค่าใช้จ่ายของสถาบัน
“การจำกัดโควต้านักศึกษาต่างชาติจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงในระยะยาวต่อมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาอื่นในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป รวมถึงประเทศชาติไปอีกนานหลายปี” แถลงการณ์ม.เมลเบิร์นระบุ
ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ว่ากำลังอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบต่อสถาบัน และยืนยันว่าจะทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการการเติบโตของธุรกิจการศึกษาระดับสูง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการส่งออกที่มีมูลค่าสูงที่สุดของออสเตรเลีย
ขณะที่องค์การ Universities Australia หน่วยงานที่เป็นการรวมตัวกันของมหาวิทยาลัยชั้นนำของออสเตรเลีย ระบุว่า มาตรการข้างต้นของรัฐบาลเท่ากับเป็นการดึงเบรกมืออุตสาหกรรมการศึกษาของประเทศ
รายงานระบุว่า การรับนักศึกษาต่างชาติเป็นการส่งออกมูลค่าสูงอันดับ 4 ของการส่งออกทั้งหมด รองจากแร่เหล็ก ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน คิดเป็นเงินเข้าประเทศกว่า 8.4 แสนล้านบาทในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
มาตรการของทางการออสเตรเลียเกิดขึ้นหลังโพลสำรวจพบว่า ชาวออสเตรเลียมีความกังวลต่อตัวเลขนักศึกษาต่างชาติและชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักและทำงานอยู่ในประเทศ ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยขยับตัวขึ้น ทำให้ปัญหาผู้ย้ายถิ่นฐานจากต่างชาติกลายเป็นประเด็นถกเถียงที่แหลมคม
ทั้งนี้ ปริมาณชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในออสเตรเลียพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (นับ 12 เดือน ถึงเดือนก.ย. 2566) มีทั้งหมด 548,800 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย จีน และฟิลิปปินส์