ปิดฉากภารกิจยาวนาน 2 นักบินอวกาศของนาซา เดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย หลังติดอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) นานกว่า 9 เดือน
สำนักข่าวต่างประเทศ บีบีซี รายงานว่า นักบินอวกาศของนาซา บัช วิลมอร์ และซูนี วิลเลียมส์ เดินทางกลับมายังโลกด้วยยานแคปซูลของ SpaceX โดยลงจอดบริเวณนอกชายฝั่งฟลอริดาได้สำเร็จ หลังจากเกิดเหตุขัดข้องบนยานสตาร์ไลเนอร์ จนติดค้างอยู่บน ISS นานกว่า 9 เดือน ถือเป็นการปิดฉากภารกิจอวกาศอันแสนยาวนาน
แคปซูลของ SpaceX โดยมีวิลเลียมส์และวิลมอร์ นักบินอวกาศของนาซา โดยสารมาด้วยนั้นได้กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกอย่างปลอดภัย หลังใช้เวลาเดินทางนาน 17 ชั่วโมง โดยที่ร่มชูชีพสี่อันกางออกเพื่อนำพวกเขาลงสู่พื้น บริเวณนอกชายฝั่งฟลอริดาได้สำเร็จ

ภาพประกอบ
นักบินอวกาศทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยให้ขึ้นเปล ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานหลังจากที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีน้ำหนักเป็นเวลานาน พวกเขาจะได้รับการตรวจจากทีมแพทย์อย่างละเอียด จากนั้นจะให้พวกเขาได้กลับไปเจอครอบครัวที่ห่างหายจากกันมายาวนาน
ด้าน โจเอล มอนทัลบาโน รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการอวกาศของนาซากล่าวว่า “การที่ลูกเรือเดินทางกลับถึงบ้านได้นั้นได้ถือเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก”

ภาพประกอบ
โดยก่อนหน้านี้ ภารกิจนักบินอวกาศของนาซาทั้งสอง กลายเป็นเรื่องราวที่คนทั่วโลกให้ความสนใจและคอยจับตา เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2024 พวกเขาเข้าร่วมในเที่ยวบินทดสอบที่มีมนุษย์ร่วมเดินทางครั้งแรกของยานอวกาศสตาร์ไลเนอร์ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทโบอิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทด้านอวกาศ
โดยจะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) โดยใช้เวลารวม 8 วัน แต่แล้วแคปซูลเกิดประสบปัญหาทางเทคนิคหลายประการระหว่างเดินทาง และถือว่าเสี่ยงเกินไปที่จะพานักบินอวกาศกลับบ้าน
ทำให้นาซาตัดสินใจให้วิลเลียมส์และวิลมอร์รออยู่บน ISS จนกว่าจะมียานลำใหม่ไปรับกลับ ส่วนยานสตาร์ไลเนอร์กลับมายังโลกอย่างปลอดภัยโดยไม่มีผู้โดยสารเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2024

ภาพประกอบ
ต่อมา นาซาจึงตัดสินใจเลือกแคปซูลของ SpaceX ที่เดินทางมาถึงสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปลายเดือน ก.ย. เพื่อจะนำทั้งคู่กลับบ้าน แคปซูลดังกล่าวบินโดยมีนักบินอวกาศเดินทางมาด้วยแค่ 2 คน แทนที่จะเป็น 4 คน จึงทำให้มีที่นั่งว่างพอสำหรับนักบินอวกาศทั้งสอง
แต่ทั้งสองคนต้องรออีก 6 เดือนตามกำหนดการกลับของยานสเปซเอ็กซ์ ทำให้รวมแล้วพวกเขาต้องอยู่ในอวกาศนานถึง 9 เดือน ซึ่งระหว่างที่รอแคปซูลมารับ ทั้งสองได้ทำการทดลองต่างๆ บน ISS รวมถึงการเดินในอวกาศ โดยซูนีได้ทำลายสถิติเป็นผู้หญิงที่ใช้เวลาอยู่นอกสถานีอวกาศนานที่สุด

ภาพประกอบ
ทั้งนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ภารกิจในอวกาศที่มีระยะเวลานานของทั้งสองนั้นมีผลกระทบต่อร่างกาย พวกเขาอาจสูญเสียมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ และยังส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของของเหลวกระทบต่อสายตาได้
โดยร่างกายอาจใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการกลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้นทั้งคู่จึงจะต้องออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อให้ร่างกายปรับตัวให้ชินกับแรงโน้มถ่วงโลกอีกครั้ง