เฉลยแล้ว! ต้นกำเนิดแมวส้มสุดซ่า ที่มาของสีส้มสดใสที่แฝงความแสบซ่าระดับตำนาน นักวิทยาศาสตร์เผยเป็นเพราะยีนเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับอาหารหรือแสงแดด

18 พ.ค. 2568 สื่อต่างประเทศระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังขนสีส้มของแมว จากผลการศึกษาล่าสุดที่ได้รับทุนสนับสนุนจากคนรักแมวทั่วโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ 2 กลุ่มจากมหาวิทยาลัยคิวชู ในประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ทั้ง 2 สถาบัน ได้ร่วมมือกันค้นพบว่า สีส้มของแมวมีต้นตอมาจากส่วนหนึ่งของรหัสทางพันธุกรรมที่หายไป

จากการศึกษาพบว่า ยีนที่มีชื่อว่า ARHGAP36 ซึ่งปกติควบคุมการแสดงออกของสีผิว ดวงตา และขนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีส่วนที่ขาดหายไปในแมวสีส้ม ซึ่งส่งผลให้เซลล์ในร่างกายของแมวสีส้ม เช่น เซลล์ผิวหนัง และขน มีการผลิตเม็ดสีที่อ่อนกว่าปกติ

โดยเฉพาะใน เซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างสีให้กับร่างกายของแมว ยีน ARHGAP36 ในแมวส้ม มีการทำงานอย่างเข้มข้นมากกว่าปกติ นำไปสู่สีสันที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น สีขนโทนส้ม สีตาอ่อน และสีผิวที่จางกว่าของแมวสีอื่น ๆ

การค้นพบดังกล่าว ยังเชื่อมโยงกับความแตกต่างทางเพศของแมวส้ม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเลี้ยงแมวจำนวนมากพร้อมกันสังเกตได้ว่า “แมวส้มมักจะเป็นเพศผู้มากกว่าเพศเมียอย่างเห็นได้ชัด โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากยีน ARHGAP36 นี้เอง ซึ่งเป็น ยีนที่อยู่บนโครโมโซม X”

ในแมวเพศผู้ที่มีโครโมโซม XY เพียงแค่ยีน ARHGAP36 บนโครโมโซม X ขาดรหัสพันธุกรรมบางส่วน ก็เพียงพอที่จะทำให้แมวนั้นกลายเป็นแมวส้ม แต่สำหรับแมวเพศเมีย ซึ่งมีโครโมโซม XX จะต้องมี ความผิดปกติแบบเดียวกันเกิดขึ้นในยีนทั้งสองชุด จึงจะทำให้แมวเพศเมียมีลักษณะเป็นแมวส้มอย่างเต็มตัวได้ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยกว่ามาก

ดังนั้น แมวเพศเมียที่มียีนนี้เพียงข้างเดียว จึงมักจะมี สีผสมหลายสี เช่น ขนส้มสลับดำ หรือมีลวดลายกระด่าง แทนที่จะเป็นแมวส้มล้วน

ด้านศาสตราจารย์ฮิโรยูกิ ซาซากิ นักพันธุศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยคิวชู และหนึ่งในหัวหน้าทีมวิจัยของโครงการนี้ เปิดเผยว่า “ผมเริ่มต้นโครงการนี้ขึ้นมา ด้วยความตั้งใจที่จะต่อสู้กับโรคแปลกประหลาดในแมวที่ยังหาคำตอบไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมกับทำหน้าที่ในฐานะ ‘ทาสแมวผู้ภักดี’ อย่างสุดหัวใจ”

ภาพประกอบ ศาสตราจารย์ฮิโรยูกิ ซาซากิ / มหาวิทยาลัยคิวชู

ทางทีมนักวิจัยกำลังเตรียมเดินหน้าศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับผลกระทบของยีน ARHGAP36 ต่อสุขภาพโดยรวมของแมวส้ม รวมถึงหน้าที่ทางชีวภาพอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น การพัฒนาของสมอง

โดยในกลุ่มคนเลี้ยงแมว มักมีมุกตลกที่ว่า “แมวส้มทั่วโลก มักทำตัวเบลอ ๆ ตลก ๆ เหมือนคิดไม่ทัน บางทีก็ดูงง ๆ เหมือนใช้สมองร่วมกันแค่เซลล์เดียว แล้วสลับกันใช้ทีละตัว” ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมสุดเปิ่น และน่ารักของแมวสีดังกล่าว ที่กลายเป็นภาพจำของใครหลาย ๆ คน

นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ว่า ในมนุษย์ ยีน ARHGAP36 มีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพ เช่น อาการผมร่วง และแม้กระทั่งมะเร็งผิวหนัง จึงทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจว่า “ยีนนี้อาจมีบทบาทสำคัญบางประการที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบในแมวเช่นเดียวกัน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน