เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 28 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ที่ประชุมรับทราบการออกแบบสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซึ่งมีความคืบหน้าโดยภาพรวมมีความก้าวหน้า และจะเริ่มบวงสรวงราชรถในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ และตอกหมุดจุดกึ่งกลางของพระเมรุมาศในเดือนธ.ค.นี้

s__41664522

ระหว่างนี้กรมศิลปากรได้ประสานงานกับกทม.เพื่อขอคนในการวางหมุดบริเวณผังพิธี ซึ่งในช่วงเวลานี้สามารถจัดกิจกรรม เช่น การสวดมนต์ข้ามปีได้ หลังจากวันที่ 10 ม.ค.2560 จะทำการล้อมรั้วเพื่อลงฐานราก เพื่อดำเนินงานตามแผนงาน และจะทำให้แล้วเสร็จไม่เกินเดือนก.ย.2560 สำหรับการจัดพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ยังเป็นไปตามปกติ โดยจะใช้พื้นที่บริเวณที่ไม่มีได้มีการล้อมรั้วก่อสร้าง

s__41664525

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า แนวคิดในการสร้างพระเมรุมาศ ยึดหลักการประกอบพิธีของราชวงศ์สมัยรัตนโกสินทร์ มี 9 ยอด และแนวคิดเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริมาสอดแทรกโดยรอบ โดยการก่อสร้างจะทำให้สมพระเกียรติและทันสมัย ซึ่งบริเวณงานจะรองรับผู้ร่วมงานได้ประมาณ 7,400 คน อย่างที่ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายเลขานุการ ทหาร ได้แสดงความเห็นต่างๆ ทั้งเรื่องการจัดขบวน การใช้พื้นที่ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และจะมีการปรับให้เหมาะสมก่อนที่จะประชุมคณะกรรมการอำนวยการชุดใหญ่ จะเดินไปข้างหน้าหากมีข้อติดขัดจุดใดก็หยุดถาม เพื่อปรับโดยไม่ต้องแก้

s__41664519

ด้านนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมจะเป็นฝ่ายสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้ นอกจากนั้นได้เตรียมเผยแพร่คำศัพท์เนื่องในพระราชพิธี ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานพระราชพิธี เช่น สื่อมวลชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานพระราชพิธี ในวันที่ 29 พ.ย. ประมาณ 10,000 ฉบับ และหลังจากที่ลงเสาเอกพระเมรุมาศ จะจัดพิมพ์หนังสือเรื่องการจัดงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังเริ่มผลิตสารคดีแอนนิเมชั่นเรื่องขั้นตอนการก่อสร้างพระเมรุมาศ และการเตรียมพระราชพิธีต่างๆเผยแพร่ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้พระราชพิธีที่มีความสำคัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีเกียรติยศของพระมหากษัตริไทย

s__41664518

ขณะที่นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเลขาคณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ กล่าวว่า การออกแบบครั้งนี้กรมศิลปากรกำหนดกรอบแนวคิดไว้ 3 ประการคือ 1.ต้องสมพระเกียรติ เพราะเป็นการถวายพระเพลิงของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากครั้งหลังสุดคืองานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อปี 2493 และช่วงเวลา 60 กว่าปีที่ผ่านมา มีเพียงพระเมรุของสมเด็จชั้นเจ้าฟ้า

s__41664520

2.ออกแบบตามหลักราชประเพณีโบราณยึดแบบสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะแบบของสมัยอยุธยาไม่มีรูปแบบที่เป็นหลักฐาน จึงดูแบบพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และ 3.การออกแบบครั้งนี้ยึดหลักไตรภูมิ ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาและความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือสมมติเทพ ตามระบบเทวนิยม ซึ่งจาก 3 แนวคิดหลักนี้ก็ปรากฏเป็นแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ คือ แบบทรงยอดบุษบก องค์หลักจะอยู่กึ่งกลางอันหมายถึงเขาพระสุเมรุ อีก 8 มณฑป ที่อยู่รายรอบนั้นหมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ อันหมายถึงระบบจักรวาล

s__41664526

ส่วนลวดลายประกอบ ไม่ว่าจะเป็นชั้นฐานหรือปฏิมากรรมที่ประกอบในพระเมรุมาศ ทั้งหมดจะสะท้อนถึงเรื่องระบบจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นชั้นครุฑ ชั้นเทพ หรือเทวดา รวมไปถึงสัตว์หิมพานต์

s__41664526

นอกจากนี้ ที่พิเศษคือเสาโคมครั้งนี้จะใช้เสาครุฑ เพราะครุฑคือพาหนะของพระนารายณ์ ในแนวคิดสมมติเทพนั้น พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระมหากษัตริย์ และขนาดของพระเมรุมาศในครั้งนี้จะใหญ่กว่า 4 ครั้งหลังที่ผ่านมา โดยพระเมรุมาศจะมีฐานกว้างด้านละ 60 เมตร สูง 50.49 เมตร และมีอาคารประกอบต่างๆ ทั้งพระที่นั่งทรงธรรม มีขนาดความสูง 20 เมตร ซึ่งจะสง่างามสมพระเกียรติ

s__41664529

สำหรับการออกแบบภูมิทัศน์จะมีการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของพระองค์ เช่น กังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ การปลูกหญ้าแฝก ฯลฯ จะถูกนำมาใช้ในการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ ขณะที่งานศิลปกรรมจะยึดคติความเชื่อตามระบบจักรวาล ทั้งเทพ เทวดา สัตว์หิมพานต์ อันเกี่ยวกับสมมติเทพทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่อดีต

s__41664521

อย่างไรก็ตามการสร้างพระโกศจันทน์ ขณะนี้แบบเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะเป็นไปตามราชประเพณีทุกประการ ส่วนการสร้างพระโกศทองคำที่จะบรรจุพระบรมอัฐินั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน จะมีการบวงสรวงในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ โดยมีพล.อ.ธนะศักดิ์ เป็นประธาน เป็นไปตามธรรมเนียมคติความเชื่อที่ก่อนจะดำเนินการสร้างจะต้องมีการบูรณะราชรถ ราชยาน ทั้งหมดนี้จะต้องแล้วเสร็จก่อนเดือนก.ย.2560

ส่วนที่เกี่ยวข้องในการออกแบบ โดยทีมออกแบบพระเมรุมาศบุษบก 9 ยอดนั้น ประกอบด้วย นายสตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม นายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกของกรมศิลปากร และนายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม

ส่วนพระที่นั่งทรงธรรม ครั้งนี้จะมีขนาดใหญ่มาก ผู้ออกแบบประกอบด้วย นายจักรพันธ์ วัชระเรืองชัย น.ส.ชารินี อรรถจินดา และนายอาทิตย์ ลิ่มมั่น นอกจากนั้นก็จะเป็นกรมศิลปากรทั้งหมด ส่วนพระโกศจันทน์นั้นออกแบบโดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อําไพพร นายช่างศิลปกรรมของสำนักช่าง 10 หมู่ กรมศิลปากร

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน