ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559 โดยกระทรวงยุติธรรม คาดว่าจะมีผู้ต้องขังประมาณ 100,000 ราย จากเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ ที่จะได้รับสิทธิตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นทั้งกลุ่มที่ได้รับการปล่อยตัว 30,000 รายและได้รับการลดวันต้องโทษ

 

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ต้องขังที่เป็นบุคคลสำคัญที่สังคมจับตา อาทิ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ผู้ต้องขังคดีทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จ ค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทย กว่า 1,000 ล้าน ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 20 ปี ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ตามพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ฉบับนี้ เนื่องจากนายสนธิ เป็นนักโทษชั้นกลาง ส่วนนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 1 ปี เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2559 ไม่เข้าข่ายเช่นกันเนื่องจากเป็นผู้ต้องขังชั้นกลาง

 

ส่วนนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ผู้ต้องขังคดีรื้อบาร์เบียร์ ต้องโทษจำคุก 2 ปี ได้รับการลดวันต้องโทษตามหลักเกณฑ์ โดยถือเป็นการได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤฎีกา ครั้งที่ 2 ทำให้จำนวนวันต้องลดลงไปและเตรียมได้รับการปล่อยตัวพ้นเรือนจำ

 

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังที่เข้าข่ายที่ได้รับสิทธิตามหลักเกณฑ์พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ จะมีทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนราย จากเรือนจำทั่วประเทศ เป็นผู้ต้องขังตั้งแต่ชั้นดี – ชั้นเยี่ยม ลดวันต้องโทษ ตามชั้นนักโทษ ส่วนผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวจะ เป็นกลุ่ม ไปตามมาตรา 5 คือ ผู้ต้องกักขัง ผู้ทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และ ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องขังที่ได้รับการลดวันต้องโทษ ตามมาตรา 7 ซึ่ง ผู้ต้องขังความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 112 จะได้รับการลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ฉบับนี้ด้วย ซึ่งกำหนดให้ผู้ต้องขังชั้นดี – ชั้นเยี่ยม ได้ลดวันต้องโทษ ตามลำดับชั้น ซึ่งชั้ยเยี่ยมจะได้ลดวันต้องโทษ ครึ่งหนึ่ง หรือ 1 ใน 2 ในโทษที่เหลืออยู่ ส่วนชั้นดีมากได้ลดวันต้องโทษ 1 ใน 3 ชั้นดี ได้ 1 ใน 4

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน