เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. พระพรหมเมธี (จำนง ธัมมจารี) กรรมการมหาเถรสมาคม และโฆษกมหาเถรสมาคม กล่าวถึงกรณี สนช.เข้าชื่อกันจำนวน 84 ราย เพื่อเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ในมาตราที่ 7 ว่าด้วยการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ด้วยการเสนอให้ตัดการเสนอสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ออก ว่า การออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้มีการสอบถามมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535

รวมไปถึงคณะสงฆ์ทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่า สนช. คงไม่เห็นความสำคัญของคณะสงฆ์ เปรียบไปเสมือนกับการตัดเสื้อให้คนอื่นใส่ โดยไม่ได้มาวัดตัวคนที่จะมาสวมใส่ ดำเนินการไปเเพียงฝ่ายเดียว เข้าใจว่าสนช.มีอำนาจในการออกกฎหมาย แต่ควรรับฟังความเห็นผู้ที่มีส่วนได้เสียในการออกกฎหมายนั้นๆ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ทางฝ่ายคณะสงฆ์กับฝ่ายบ้านเมืองเอง ก็ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งแต่อย่างใด ซึ่งอาตมาเข้าใจว่า การที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย แสดงว่า ควรจะมีปัญหาเกิดขึ้น แต่ถึงตรงนี้ มหาเถรฯ และคณะสงฆ์ ก็ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกับฝ่ายใด แต่ก็ไม่ทราบว่าเรื่องที่เกิดขึ้น สนช.มีเหตุผลใด ที่เข้ามาแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ ณ ขณะนี้

“อาตมาก็ไม่ทราบว่า สนช.จะแก้กฎหมายไปทำไม ขณะนี้บ้านเมืองก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ผิดปกติ การปกครองภายในคณะสงฆ์ก็ไม่ได้มีปัญหา ซึ่งการทำงานของมหาเถรฯ ก็ล้วนเป็นไปตามหลักกฎหมายบ้านเมือง จารีตประเพณี และพระธรรมวินัย เรื่องนี้ยังไม่ได้หารือในที่ประชุมมหาเถรฯ อย่างไรก็ตาม จะให้นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ช่วยประสานกับนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลสำนักพุทธฯ ติดตามผลการประชุม สนช. ในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ ต่อไป” พระพรหมเมธี กล่าว

ด้าน นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักพุทธฯ กล่าวว่า วันที่ 29 ธ.ค. สำนักพุทธฯ จะขอติดตามนายออมสิน เพื่อเตรียมตอบขอซักถามของ สนช.เกี่ยวกับ มาตรา 7 รวมทั้ง เพื่อรอติดตามผลการหารือระหว่างนายออมสิน และสนช.ว่า จะดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์หรือไม่อย่างไร จากนั้น จะนำข้อสรุปการหารือดังกล่าวรายงานให้มหาเถรฯ ได้รับทราบต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน