เมื่อเวลา 13:00 น. วันที่ 6 ม.ค. ที่ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาในหัวข้อแนวทางปฏิรูปหลังโศกนาฏกรรมรถตู้ โดยเชิญ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ นายศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นายอภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เข้าร่วมเสวานาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีรถตู้โดยสารเกิดอุบัติเหตุชนกับรถกระบะที่อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา และเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยพร้อมทั้งเป็นการกำหนดแนวทางในการปฏิรูปรถตู้โดยสารให้เป็นไปด้วยความปลอดภัยมากขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยนำระบบ GPS เข้ามาติดตั้งที่ตัวรถตู้โดยสาร ซึ่งระบบด้วยการเก็บข้อมูลทั้งความเร็วที่ใช้ในการขับขี่ พฤติกรรมของผู้ขับ ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งมาที่ศูนย์ควบคุมของกรมขนส่ง โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งระบบดังกล่าวนั้น บขส.ได้นำไปติดตั้งในรถโดยสารประจำทางแล้ว จึงเห็นว่ารถตู้โดยสารควรนำระบบดังกล่าวมาใช้เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น โดยกำหนดให้ติดตั้งระบบดังกล่าวให้แล้วเสร็จในปี 2561

นายชัชชาติ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการก็ต้องเรียนรู้หน้าที่ในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ทั้งการคาดเข็มขัดนิรภัย ตรวจสอบว่าภายในตัวรถมีอุปกรณ์ใดบ้างที่จะสามารถนำมาใช้ได้เมื่อเกิดปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ดังนั้นรัฐบาลควรให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณในด้านความปลอดภัยคำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นหลัก

ด้านนพ.อภิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า อุบัติเหตุที่เกิดจากรถตู้โดยสารนั้น มีสถิติการเสียชีวิตและอัตราการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ายานพาหนะอื่นๆ มากถึง 2-3 เท่าตัว ซึ่งมีข้อสังเกตว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องออกกฏหมายควบคุมรถตู้โดยสารโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดขอบเขตของการขับขี่ยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ไม่ดื่มสุรา อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุก็ยังเกิดขึ้น นั่นจึงแสดงว่าสาเหตุไม่ใช่เพียงสุราเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าสาเหตุนั้นมีอะไรบ้าง ทั้งสภาพตัวรถ สภาพคนขับ สภาพถนน จิตสำนึกในการขับขี่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น

นพ.อภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า หลักการที่จะนำมาใช้นั้น จะยึดหลักตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 3 หัวข้อหลักคือ 1.เหตุผลของการเกิดปัญหาคืออะไร ซึ่งปัญหานั้นอาจมีมากกว่า 1 ข้อและมีหลายมิติ 2.การเลือกทางสายกลาง หมายความว่า มีหลายฝ่ายเสนอให้ยกเลิกการให้บริการรถตู้สาธารณะ เพื่อตัดตัวเลือกในการเดินทางสำหรับประชาชนให้น้อยลง ซึ่งมองว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 3.การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ยั่งยืน เป็นการสร้างความคุ้นชินในการสร้างจิตสำนึกให้กับคนขับและผู้ใช้บริการรถตู้สาธารณะ

“บทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดก็ต้องเด็ดขาดด้วย ไม่ใช่ว่าทำผิดแล้วจับมาปรับเพียงไม่กี่ตังก็ปล่อยออกไป แบบนี้ปัญหาก็เกิดซ้ำซ้อน พร้อมทั้งต้องมีการเก็บสถิติ เฝ้าระวังอย่างจริงๆ จังๆ มากกว่านี้ เพราะเมื่อมีเทศกาลทีอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นที พร้อมทั้งต้องปรับปรุงด้านกายภาพ ทั้งสภาพถนน สภาพรถ” นพ.อภิวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ประเด็นการนำรถตู้เหมาะสมกับการดัดแปลงเป็นรถโดยสารหรือไม่ นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า หากมองตามสถิติจะพบว่ายอดความสูญเสียและอุบัติเหตุจากรถตู้นั้นมีมากกว่ารถโดยสารขนาดใหญ่ถึง 5 เท่า ถามว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นต้องขอบอกว่า เมื่อมองตามโครงสร้างแล้ว รถตู้มีขนาดเล็กและไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนส่งประจำทางเพราะมีขนาดเล็ก ที่นั่งมีเพียง 12 ที่นั่ง แต่อย่างไรก็ตามก็ได้มีการดัดแปลงสภาพรถ ต่อเติมที่นั่งให้มากขึ้นทำให้สมดุลของตัวรถเปลี่ยนไป ประตูเข้า-ออกมีเพียงช่องทางเดียว บานกระจกก็มีขนาดเล็ก จึงทำให้เส้นทางออกกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินนั้นเป็นไปได้ลำบาก

ในขณะที่รถโดยสารขนาดใหญ่นั้น มีความแข็งแรงทางด้านโครงสร้างมากกว่า พร้อมทั้งมีประตูฉุกเฉินติดตั้งไว้พร้อมและไม่มีความแออัดภายใน ดังนั้น การที่จะนำรถตู้มาแปลงสภาพเป็นรถโดยสารจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง จึงเสนอไปยังรัฐบาลว่าหากระยะทางนั้นเกิน 300 กิโลเมตรควรเปลี่ยนจากรถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัสแต่อย่างไรก็ตามก็ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ร่วมด้วยและค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีสวัสดิการแก่ผู้ขับรถตู้โดยสารให้ครอบคลุมเพื่อคนขับจะได้ไม่ต้องเร่งทำรอบในการวิ่งส่งผู้โดยสาร ซึ่งอาจนำมาสู่การสูญเสียสมรรถภาพในการขับขี่ลดและอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้

ขณะที่นายอภิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า สาเหตุที่รถตู้โดยสารต้องเพิ่มที่นั่งให้มากขึ้นหรือแปลงสภาพรถแตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยคำนึงถึงผลประโยชน์มากกว่าความปลอดภัย ซึ่งปัญหาใหญ่ที่สุดคือรัฐบาลไม่ผลักดันหรือสนับสนุนต้นทุนความปลอดภัยในรถตู้โดยสาร โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบรายย่อยต้องเพิ่มภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนที่นั่งเพื่อให้สามารถรับผู้โดยสารได้จำนวนครั้งมากๆ การแก้ปัญหาก็คือรัฐบาลต้องลงมากำกับดูแลในด้านต้นทุนความปลอดภัยให้มากขึ้น ทำให้เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนพึ่งจะได้รับ

“คำถามคือว่า ต้นทุนในความปลอดภัยในรถตู้โดยสารทำไมรัฐบาลจึงมีงบสนับสนุนที่น้อยมาก ในขณะที่รัฐบาลมีการลงทุนมากมายทั้งระบบสนามบิน ระบบรถไฟ รถไฟฟ้า อยากให้คำนึงถึงคนที่มีรายได้น้อยแต่จำเป็นต้องเดินทาง ควรจัดการด้านความปลอดภัยให้มากขึ้นหรือเทียบเท่าระบบขนส่งด้านอื่นๆ” นายอภิวัฒน์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน