ดีเอสไอ จ่อเสนอ อสส. ร้องศาล เลิกมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ฯ ฐานเอี่ยวฟอกเงิน กวาดล้างทรัพย์สินทั่วประเทศ เฉลี่ยคืนสมาชิกสหกรณ์ฯ 5 หมื่นราย

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 พ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยพ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.กองคดีการเงินการธนาคาร และนายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ร่วมแถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีฟอกเงินกับมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง ในพระอุปถัมภ์พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระธัมมชโย) และกรรมการมูลนิธิฯ ที่ได้รับเงินจำนวน 125 ล้านบาท จากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ที่ร่วมกันยักยอกและฟอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า ดีเอสไอได้ดำเนินคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ จนสามารถติดตามเงินสดจำนวน 1,500 ล้านบาท และทรัพย์สินอีก 299 รายการ มูลค่า 3,800 ล้านบาท รวมทรัพย์ที่ติดตามคืนได้ทั้งสิ้น 5,300 ล้านบาท ส่งคืนให้กับสหกรณ์ฯ เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนให้สมาชิก 50,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ทรัพย์ที่นายศุภชัย ยักยอกมาจากสหกรณ์ฯ ระหว่างปี 2552-2556 มีมากกว่า 12,000 ล้านบาท มีทั้งนำไปซื้อหุ้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซื้อที่ดินทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พูดได้ว่ามีเงินไหลออกตลอด ทำให้ต้องขยายผลการสอบสวนจากเดิม 12 คดี เพิ่มอีก 11 คดี และมีแนวโน้มจะมีคดีฟอกเงินเพิ่มขึ้นตามเส้นทางการเงินที่ตรวจพบ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถติดตามทรัพย์คืนให้กับสมาชิกได้อีก

ในส่วนของอาคารลูกโลก วิหารคต และอาคารบุญรักษา รวมถึงอาคารเวิลด์พีชวัลเลย์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้อายัดไว้แล้ว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล หากศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน อาจขายทอดตลาด หรือให้ส่วนราชการเข้าใช้ประโยชน์ ส่วนคดีของนายอนันต์ อัศวโภคิน ที่เกี่ยวข้องกับอาคารบุญรักษา ดีเอสไอยังสอบสวนอยู่ ซึ่งต้องให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงด้วย

อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า ส่วนการติดตามตัวพระธัมมชโย มาดำเนินคดีข้อหาสมคบฟอกเงินนั้น ขณะนี้มีการติดตามเส้นทางการเงิน การสื่อสาร บุคคลใกล้ชิด และประวัติการักษาตัว ไม่พบความเคลื่อนไหวทั้งในและต่างประเทศ แต่ยืนยันว่ามีเบาะแสเข้ามาตลอด ดีเอสไอก็ตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งมาทั้งหมด

ด้านนายขจรศักดิ์กล่าวว่า วัดพระธรรมกายรวมถึงวัดสาขาในต่างจังหวัดมีเฉพาะที่ดินที่เป็นของวัดเท่านั้น โดยวัดพระธรรมกายที่ จ.ปทุมธานี มีที่ดิน 196 ไร่ ส่วนที่เหลือทั้งหมดถือครองในชื่อมูลนิธิฯ ทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ฯ กระทำความผิดในคดีฟอกเงิน เนื่องจากหลักฐานในทางอาญาพบว่าเงินในสหกรณ์เข้ามาในมูลนิธิฯ และกระจายออกไป

อัยการสำนักการสอบสวนจึงเสนอให้ดีเอสไอส่งคำร้องถึงอัยการสูงสุดขอให้ดำเนินการในทางแพ่ง โดยยื่นร้องต่อศาลให้มีคำสั่งยกเลิกมูลนิธิฯ และให้ทรัพย์สินของมูลนิธิฯ ตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 134 เนื่องจากเงินที่ออกจากสหกรณ์ฯ ไม่ได้มีเพียงรูปแบบเช็ค 27 ใบ แต่ยังออกในรูปแบบเงินสดและทรัพย์สินอื่นอีกจำนวนมาก เพื่อกวาดล้างคดีที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ฯ ให้จบในคราวเดียว

นอกจากนี้ วัดพระธรรมกายยังมีมูลนิธิที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันอีกหลายแห่ง ทั้งนี้ การสอบสวนทุกคดีทำอย่างต่อเนื่อง และมีความเคลื่อนไหว แต่จากหลักฐานที่ปรากฏเป็นผลให้ต้องขยายผลการสอบสวนไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก

ขณะที่พ.ต.ท.ปกรณ์กล่าวว่า ทางการสอบสวนมีข้อมูลเพียงพอแจ้งข้อกล่าวหานางวรรณา จิรกิติ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และน.ส.อารีพันธุ์ ตรีอนุสรณ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ ผู้ถูกกล่าวหา ในข้อหาสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (3), 5, 9 และ 60 โดยนางวรรณา ผู้ถูกกล่าวหา ได้เข้าชี้แจงต่อสู้ข้อกล่าวหา และยื่นพยานหลักฐานกับทางคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษแล้ว

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงได้สรุปสำนวนการสอบสวนและมีความเห็นทางคดี เพื่อส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ถูกกล่าวหา ไปยังพนักงานอัยการคดีพิเศษพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ส่วนนางอารีพันธุ์ ได้เสียชีวิต ซึ่งการสอบสวนได้รับการยืนยันจากนิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้วว่าเสียชีวิตจริง

“ผลสอบสวนพบแผนประทุษกรรมเข้าลักษณะความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน โดยเป็นการบริจาคเงินให้กับพระธัมมชโย แล้วส่งต่อเงินไปให้มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ฯ ใช้สร้างอาคารลูกโลก 700-800 ล้านบาท และสร้างวิหารคตอีก 700-800 ล้านบาท และมีเงินบริจาคตรงเข้ามูลนิธิ 325 ล้านบาท รวมถึงเงินอยู่ในพระสงฆ์เครือข่าย 30 รูปนำไปซื้อที่ดินและเล่นหุ้น ซึ่งมีการตรวจสอบพบ” พ.ต.ท.ปกรณ์กล่าว


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน