6 ศพ – แบบนี้ก็มีด้วย! คดีสลายการชุมนุมปี 53 ดีเอสไองดการสอบสวน เหตุการณ์คนตายในวัดปทุมฯ ด้วยเหตุผลยังหาตัวคนยิงไม่เจอ จึงแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้
6 ศพ – เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสำนวนการสอบจำนวน 15 คดี ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กำลังสอบสวนนั้น ทางฝ่ายอัยการมองว่า เมื่อศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่า ข้อหาใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น จากการสั่งการให้สลายการชุมนุม โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะผอ.ศอฉ.
และผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเมื่อปี 2560 เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดีเอสไอส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเอาผิดผู้สั่งการนั้น ดีเอสไอไม่สามารถดำเนินคดีได้ แต่ที่ดีเอสไอสามารถทำได้คือสอบสวนประเด็นผู้ลงมือให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ นั้นหมายถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าปฏิบัติการในพื้นที่
และตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งพนักงานอัยการขอให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษแยกสำนวนการสอบสวนตามจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ อีก 15 คดี เนื่องจากเห็นว่าแม้ผู้ตาย และผู้บาดเจ็บจะอยู่ในที่เกิดเหตุหรือเหตุการณ์เดียวกัน แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากการกระทำของบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งดีเอสไอได้แยกชุดทำงานขึ้นมาดำเนินการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ในแต่สำนวนว่าใครเป็นคนยิง
ทั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าคลางแคลงใจ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ต้องนำตัวบุคคลมาแจ้งข้อกล่าวหา และต้องตรวจพิสูจน์กระสุนเป็นรายๆไป และยังต้องสอบพยานเหตุการณ์ อีกทั้งเวลาก็ล่วงเลยมาหลายปี การเก็บหลักฐาน จึงค่อนข้างยาก
“รายงานข่าวระบุว่า ทั้งนี้ในจำนวน 15 คดี ที่ดีเอสไอสอบสวนนั้น มีคดีการเสียชีวิตในวัดปทุมฯ รวมอยู่ด้วย ซึ่งการดำเนินคดีต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารคนใดใช้ปืนจากกระบอกไหนทำให้เสียชีวิต ซึ่งพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ยังไม่สามารถหาตัวบุคคล และเรียกเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำจุดในวันนั้นมาสอบปากคำ รวมทั้งตรวจปืนได้”
ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าคดีกลุ่มดังกล่าว พนักงานสอบสวนจะต้องมีความเห็นงดการสอบสวนเสนอให้อัยการพิจารณา