รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เผย เตรียมพร้อม ทำน้ำอภิเษก สำรวจ 76 จังหวัด พบ 107 แหล่งน้ำ ยึด โบราณราชประเพณี

ทำน้ำอภิเษก – เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้สัมภาษณ์ถึง การเตรียมการส่วนของกระทรวงมหาดไทย ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเฉพาะ การเตรียมพิธีตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ หรือ ทำน้ำอภิเษก และเตรียมการด้านอื่นๆ ว่า

ทางกระทรวงมหาดไทยเตรียมการโดยให้จังหวัดได้สำรวจแหล่งน้ำต่างๆ โดย 76 จังหวัดมีทั้งหมด 107 แหล่งน้ำ โดยให้ทุกอย่างเป็นไปตามโบราณราชประเพณี จากนั้นจะเตรียมการเกี่ยวกับภูมิทัศน์ให้เรียบร้อย ก่อนเริ่มพิธีพลีกรรม หรือการตักน้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมวัดที่จะประกอบพิธี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ใช้น้ำอภิเษกจากสถานที่ต่างๆ รวม 6 แห่ง ได้แก่ น้ำในสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นน้ำที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

อีก 5 แห่งใช้น้ำในแม่น้ำสำคัญของประเทศ 5 สาย ซึ่งเรียกว่า “เบญจสุทธิคงคา” คือ แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ ต.ท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี, แม่น้ำราชบุรี ตักจาก ต.ดาวดึงษ์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม, แม่น้ำเจ้าพระยา ตักจาก ต.บางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง, แม่น้ำป่าสัก ตักจาก ต.ท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี และ แม่น้ำบางปะกง ตักจากบึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก

ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี 2411 ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ ต่อมาในปี 2416 รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทรงลาผนวชแล้ว จึงเพิ่มน้ำจาก “ปัญจมหานที” แม่น้ำสายสำคัญ 5 สายในชมพูทวีปของอินเดียตามตำราพราหมณ์ เจือลงไปด้วย ในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ใช้น้ำอภิเษกทั้งหมด 11 แห่ง

อนึ่ง ตามตำราพราหมณ์น้ำอภิเษกใช้น้ำจากแม่น้ำสายสำคัญ 5 สายในชมพูทวีป คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมทิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ซึ่งเรียกว่า ปัญจมหานที เหตุที่ใช้ เพราะแม่น้ำทั้ง 5 ไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งถือว่าเป็นที่สถิตของพระอิศวร

ต่อมาในรัชกาลที่ 6 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 2453 ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2416 แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ปี 2454 ได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญอื่นๆ มาตั้งพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ อีก 7 แห่ง ได้แก่

แม่น้ำป่าสัก ต.ท่าราบ ไปทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาท จ.สระบุรี อันเป็นมหาเจดีย์สถานอยู่ในมณฑลประเทศที่ตั้งกรุงละโว้และกรุงศรีอยุธยา, ทะเลแก้วและสระแก้ว แขวงเมืองพิษณุโลก ไปทำพิธีที่พระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก อันเป็นมหาเจดีย์สถานอยู่ในโบราณราชธานีฝ่ายเหนือ

น้ำโชกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ไปทำพิธีที่วิหารวัดมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก จ.สุโขทัย อันเป็นมหาเจดีย์สถานโบราณราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วงเจ้า, แม่น้ำนครชัยศรี ต.บางแก้ว ไปทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ เมืองนครชัยศรี อันเป็นโบราณมหาเจดีย์ตั้งแต่สมัยทวารวดี

บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และ น้ำบ่อปากนาคราช ในเมืองนครศรีธรรมราช ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช เป็นมหาเจดีย์สถานอยู่ในโบราณราชธานีศรีธรรมราช

บ่อน้ำทิพย์ เมืองนครลำพูน ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย อันเป็นมหาเจดีย์สถานในแว่นแคว้นโบราณราชธานีทั้งหลายในฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพเยาว์ และนครเชียงใหม่

บ่อวัดธาตุพนม ทำพิธีที่พระธาตุพนม เมืองนครพนม มณฑลอุดรอันเป็นมหาเจดีย์สถานอยู่ในประเทศที่ตั้งโบราณราชธานีโคตรบูรพ์หลวง

นอกจากนี้ ยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่างๆ อีก 10 มณฑล คือ

วัดบรมธาตุ เมืองชัยนาท มณฑลนครสวรรค์, วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์, วัดกลาง เมืองนครราชสีมา มณฑลนครราชสีมา, วัดสีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน, วัดโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี, วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี, วัดตานีนรสโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี, วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต, วัดพระธาตุ เมืองไชยา มณฑลชุมพร, วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี

รวมสถานที่ทำน้ำอภิเษกทั้งหมด 17 แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาจนกระทั่งปัจจุบัน

โดยในรัชกาลที่ 7 ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกรวม 18 แห่ง โดยเปลี่ยนสถานที่ตั้งพิธี 1 แห่ง จากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ และเพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่บึงพระลานชัย จ.ร้อยเอ็ด

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้ตั้งพิธีเสกน้ำเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 7 แต่เปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ มาเป็นพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

ทั้งนี้ น้ำแต่ละแห่งจะทำพิธีพลีกรรมตักน้ำ แล้วบรรจุภาชนะเพื่อนำเข้าพิธีสมโภชน้ำอภิเษก ณ มหาเจดีย์สถานและพระอารามต่างๆ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำส่งมายังกรุงเทพฯ ก่อนหน้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้วเชิญตั้งไว้ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกว่าจะถึงวันพระราชพิธี จึงได้เชิญเข้าพิธีสวดพระพุทธมนต์เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ต่อไป

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน