‘สรรพากร’ ถอยดีกว่า รื้อเกณฑ์รีดภาษีดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท เตรียมประกาศใหม่ใน 1-2 สัปดาห์ หลังบังคับ 80 ล้านบัญชีมาเซ็นยินยอมเพื่อเว้นภาษี 15% สร้างความยุ่งยากให้ผู้ฝากรายย่อย เปลี่ยนเป็นให้เศรษฐีมาเซ็นยินยอมไม่ให้ข้อมูลแทน ด้านสมาคมธนาคาร แจงถ้าไม่แก้จะกระทบผู้ฝากเงินหนัก โดนหักภาษีทุกบัญชี มิ.ย.นี้

อ่าน นักออมงานเข้า! สรรพากร เตรียมเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% ได้เท่าไหร่โดนหมด

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 15% และออกประกาศใหม่ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนผู้ฝากเงินเกิดความตื่นตระหนกและสับสนว่ากรมสรรพากรจะเข้าไปเก็บดอกเบี้ยจากเงินฝากจากทุกบัญชี จากเดิมที่เว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ที่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี โดยประกาศใหม่จะแก้ไขในประเด็นการแสดงความยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งยอมรับว่าตามประกาศเดิมสร้างความยุ่งยาก และกระทบกับคนจำนวนมาก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2562 กรมได้หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ในเรื่องการแสดงความยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กระทบกับผู้ฝากเงินส่วนใหญ่น้อยที่สุด โดยเฉพาะกลุ่ม 99% ที่มีดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี ที่จะต้องหาวิธีแสดงความยินยอมที่มีความยืดหยุ่น เช่น ให้กลุ่มที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า 20,000 บาทต่อปี ซึ่งมีสัดส่วนน้อยกว่า 1% มาลงทะเบียนแสดงความไม่ยินยอมให้ส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากแทน ทำให้ผู้ฝากเงินกว่า 99% ไม่ต้องแสดงตน และได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากเหมือนเดิม

“ทางสมาคมธนาคารไทยเสนอให้มีการเลื่อนการบังคับใช้ประกาศออกไป เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบมาก แต่กรมให้ไปดูแนวทางว่าจะยืดหยุ่นวิธีการได้อย่างไร โดยเฉพาะการแสดงความยินยอม ซึ่งอาจจะต้องมีการคิดกลับข้างกันเพื่อไม่ให้คนส่วนใหญ่เดือดร้อน โดยในประกาศฉบับใหม่ของกรมจะแยกชัดเจนระหว่างแสดงความยินยอมส่งข้อมูลกับการเสียภาษี เพราะหากมาแสดงตัวว่าไม่ต้องการให้ส่งข้อมูล แต่ถ้าดอกเบี้ยเข้าเกณฑ์ ก็ต้องเสียภาษีตามปกติ”นายปิ่นสายกล่าว

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับกรมสรรพากรและให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีลูกค้าบัญชีเงินฝากกว่า 80 ล้านบัญชี หากให้ลูกค้ามาแสดงความยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากทั้งหมด คาดว่าจะไม่ทันในรอบการจ่ายดอกเบี้ย มิ.ย.นี้ และจะมีลูกค้าส่วนใหญ่ต้องได้รับผลกระทบจากประกาศของกรมสรรพากรถูกหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากจากทุกบัญชีทันที ซึ่งสมาคมเสนอว่า ถ้าไม่สามารถเลื่อนเวลาบังคับใช้ประกาศออกไปได้ กรมสรรพากรจะมีวิธีการยืดหยุ่นหลักเกณฑ์ในการแสดงความยินยอมของลูกค้าบัญชีเงินฝากด้วยวิธีใดได้บ้างโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารจะทำงานร่วมกับกรมสรรพากร เพื่อหาวิธีการให้ลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถมาแสดงความยินยอมได้ จะทำแบบรายการแสดงความยินยอมแบบเดียวเพื่อใช้กับทุกธนาคาร และจะแสดงความยินยอมเพียงครั้งเดียวครอบคลุมทุกบัญชีได้หรือไม่ รวมทั้งจะมีการส่งแจ้งข้อมูลแบบรายบุคคลไปถึงลูกค้าให้มาแสดงความยินยอมหรือไม่ อยู่ระหว่างการหารือวิธีการ แต่ในขณะนี้สมาคมธนาคารยังไม่มีการแจ้งไปยังลูกค้าให้เข้ามาดำเนินการใดๆ เพราะต้องรอความชัดเจนจากกรมสรรพากรอีกครั้ง

รายงานข่าวจากกรมสรรพากร ระบุว่า สมาคมธนาคารเสนอให้มีการชะลอการบังคับใช้ประกาศออกไป เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน แต่กรมสรรพากรเห็นว่าเรื่องนี้มีการเตรียมตัวมานานในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จึงไม่สามารถชะลอออกไปได้ นอกจากนี้ ทางธนาคารยังเสนอให้ ไม่ต้องให้มีการแสดงความยินยอมในการส่งข้อมูลได้หรือไม่ หรือแนวทางที่ ธนาคารจะจัดกลุ่มลูกค้าออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท ต้องส่งข้อมูล กลุ่มที่ต่ำกว่า 5 แสนบาท ไม่ต้องส่งข้อมูล เป็นต้น ซึ่งกรมสรรพากรก็รับข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณา

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ในส่วนของธนาคารกรุงเทพนั้นยืนยันลูกค้าไม่ได้รับผลกระทบ จึงไม่อยากให้ลูกค้าเกิดความตื่นตระหนก เพราะที่ผ่านมาได้ดำเนินตามกฎระเบียบมาโดยตลอด ซึ่งธนาคารได้มีการหารือกันในเรื่องนี้มากว่า 1 ปีแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ แต่อย่างไรก็ตามธนาคารก็จะกำชับให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้กับลูกค้าได้รับทราบ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันอย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์อยู่ 10 ล้านบัญชี วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

ด้านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อย่างธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้น แม้จะมีฐานเงินฝากออมทรัพย์สูง แต่ทั้ง 2 ธนาคารได้รับการยกเว้นการเสียภาษีรายได้ที่ได้จากอัตราดอกเบี้ยออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีพันธกิจเฉพาะด้านที่ต้องการให้เกษตรกรและเยาวชนออมเงินให้มากขึ้น แต่ทั้ง 2 ธนาคารก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกรมสรรพากรในการส่งข้อมูลเงินฝากต่างๆ ให้แน่นอน และที่ผ่านมามีลูกค้าจำนวนมากสอบถามถึงประเด็นดังกล่าว ก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงเรียบร้อยแล้ว

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะประธานกรรมการสภาสถาบันการเงินของรัฐ ระบุ ว่าธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะมีการประชุมเรื่องดังกล่าวกันในต้นเดือนพ.ค.นี้ เพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางในการดำเนินการตามประกาศของกรมสรรพากรที่ออกมา ซึ่งเชื่อว่าจะทันต่อการบังคับใช้ของกรมสรรพากรอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน