ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษา อดีตพระพรหมดิลก อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา และอดีตพระอรรถกิจโสภณ ผช.เจ้าอาวาส คดีฟอกเงินทุจริตเงินทอนวัด 5 ล้านทุจริตงบ พศ.พัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรม จำคุกคนละ 3-6 ปี โดยไม่รอลงอาญา

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 พ.ค. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อท.196/2561 ฟอกเงินทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ของวัดสามพระยา ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปราบการทุจริต 1 ได้ยื่นฟ้อง นายเอื้อน กลิ่นสาลี อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา, กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กับ นายสมทรง อรรถกฤษณ์ อดีตพระอรรถกิจโสภณและเลขาเจ้าคณะกรุงเทพ เป็นจำเลยที่ 1-2

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันฟอกเงินอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีร่วมกันฟอกเงิน จากการทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณ พศ. ปี 2557 ให้กับวัดสามพระยา 5 ล้านบาท ในงบส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งที่ไม่มีการดำเนินโครงการ โดยเจ้าอาวาสวัดสามพระยา นำงบที่ได้มานั้นไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมแทน ทั้งที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินนั้นมาตั้งแต่แรก ซึ่งอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2561

ขณะที่ อดีตพระเถระทั้งสอง ได้สึกจากความเป็นพระและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่การฝากขังในชั้นสอบสวนนับจากวันที่ 24 พ.ค.2561 จนถึงการพิจารณาในชั้นศาล เนื่องจากไม่ได้ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราว โดยวันนี้ศาลได้เบิกตัวจำเลยทั้งสองมาฟังคำพิพากษา ซึ่งสวมชุดสีขาว วันนี้มีพระลูกวัดและญาติโยมได้ติดตามมาร่วมให้กำลังใจอดีตพระเถระผู้ใหญ่ทั้งสองคน และร่วมฟังผลคำพิพากษา ร่วม 50 คน

ซึ่งศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนพยานโจทก์-จำเลยแล้ว เห็นว่าศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า เมื่อปี 2556-2557 พศ.ได้มีการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2557 จำนวน 72 ล้านบาทให้กับวัดต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนโครงการ ร.ร.พระปริยัติธรรมฯ โดยวัดสามพระยาเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นได้รับงบประมาณมา 5 ล้านบาท จาก นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.พศ.ขณะนั้น ต่อมาจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ร่วมเบิกเงินจากบัญชีวัด ได้มอบอำนาจให้ฆารวาสเบิกถอนเงินจากบัญชีภายหลังนำเช็คที่เป็นเงินที่ได้รับสนับสนุนจาก พศ. ในโครงการ ร.ร.พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ซึ่งข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนรับฟังได้ว่ามีการเบิกถอนเงินจากบัญชีของวัด จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรก 500,000 บาท ครั้งที่สอง 1.9 ล้านบาท และครั้งที่สาม 1.68 ล้านบาท โดยเมื่อเบิกถอนเงินมาแล้วได้นำเข้าบัญชีเงินฝาก จำเลยทั้งสองได้นำเงินดังกล่าวโอนเข้าบัญชีนางวิภาพร อุดมโชคปิติ ทั้งที่ความจริงแล้ววัดสามพระยาไม่มี ร.ร.พระปริยัติธรรมฯ แต่อย่างใด

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเงินดังกล่าวเป็นการอนุมัติตามที่เคยมีหนังสือ 2 ฉบับ ของงบประมาณในการก่อสร้างอาคารร่วมธรรมฯ และอาคารสงฆ์นั้น ศาลเห็นว่าจากการตรวจสอบเอกสารของบจาก พศ. ไม่ได้มีการลงเลขรับจากหน้าห้องนายนพรัตน์ อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ อย่างถูกต้อง มีฉบับเดียวที่ของบก่อสร้างคารพักสงฆ์ เเละมีลายเซ็นนายนพรัตน์ เเต่ก็ไม่ได้ลงในระบบ และยังได้ความจากเจ้าหน้าที่ พศ.

ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกันไว้เป็นพยาน ระบุว่างบที่จัดสรรนั้น ยังมีในส่วนของวัดอื่น โดยก่อนหน้าวัดสามพระยา ก็มีการจัดสรรให้วัดอีก 2 แห่ง ที่มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองรู้ดีอยู่แล้วว่า งบดังกล่าวเป็นงบเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม ส่วนเอกสารที่จำเลยที่สองอ้างว่าเจ้าหน้าที่ พศ. ได้นำมาให้ โดยกรอกข้อความไว้เเล้วเพียงเว้นช่องรายละเอียดไว้เพียงแต่ให้ลงชื่อนั้น

ก็เป็นการนำมากล่าวอ้างหลังจากตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ 1 นัดไปแล้ว ทั้งที่จำเลยอ้างว่าเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ซึ่งเป็นเพียงสำเนา ไม่มีเอกสารตอบการรับเงินด้วย ทั้งที่เป็นเอกสารที่ควรอยู่คู่กัน ดังนั้นที่จำเลยอ้างว่าเป็นเพียงการใช้งบที่ผิดวัตถุประสงค์รับฟังไม่ได้ เพราะงบดังกล่าววัดสามพระยาไม่ควรได้รับตั้งแต่แรก ซึ่งหากเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งหากเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ งบที่ได้มานั้นก็ต้องได้มาตามสิทธิ์ที่ถูกต้องด้วย

พยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักและรับฟังได้ว่าเงินดังกล่าวมาจากการทุจริตจัดสรรงบของ พศ. ซึ่งจำเลยทั้งสองรู้ดีว่าเงินที่ได้มาใช้เพื่อสนับสนุนการศึกษา ร.ร.พระปริยัติธรรม เท่านั้น โดยการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นเจ้าพนักงานปกครองวัดจึงจะต้องได้รับโทษเป็นสองเท่า

โดยเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์คดีนี้แล้ว เห็นว่าแม้จะมีการเบิกเงินในบัญชี 3 ครั้ง เเต่ครั้งแรกที่มีการเบิกจ่ายเช้าวันที่ 13 ธ.ค.2556 จำนวน 500,000 บาท แต่เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่คงอยู่ในบัญชีของวัดสามพระยา ที่คงเหลืออยู่ 1.63 ล้านบาทเศษ เพราะเมื่อได้รับเช็คงบประมาณ 5 ล้านบาทมาแล้ว ได้นำเข้าเช็คต่างธนาคารในวันที่ 12 ธ.ค.2556 ซึ่งจะเบิกจ่าย ได้ช่วงบ่ายของวันถัดไป การเบิกจ่ายเงินส่วนนี้จึงเป็นการเบิกจ่ายเงินของวัดที่มีอยู่เดิม

ส่วนครั้งที่ 2 วันที่ 7 ม.ค.2557 จำนวน 1.9 ล้านบาท และครั้งที่ 3 วันที่ 14 ม.ค. 2557 ที่เบิกไป 1.68 ล้านบาทเศษนั้น รับฟังได้ว่าเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณดังกล่าว โดยมีการเบิกเข้าบัญชีนางวิภาพร ที่อ้างว่าเป็นผู้ออกเงินไปก่อน เเละเเม้มีการเบิกเงินไปสร้างอาคารร่มธรรมฯ ทั้งที่มีงบประมาณในส่วนนี้เป็นเงิน 8 ล้าน

เเต่เงินดังกล่าวกลับถูกนำไปฝากเพื่อกินดอกผล แล้วถอนเงินดังกล่าวไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมฯ และอาคารพักสงฆ์ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการรับโอนเงิน และเปลี่ยนสภาพจากการกระทำผิด ความผิดของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 5(1)(2),60 ประกอบประมวลกฎหมายมาตรา 83

ส่วนที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือโดยทุจริต และฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายมาตรา 157 เห็นว่าจะต้องเป็นเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ในการปฏิบัติโดยตรง แต่เหตุที่เกิดขึ้นเป็นการมอบอำนาจเบิกเงินจากบัญชี จึงไม่ใช่อำนาจโดยตรง จึงไม่มีความผิดตามฟ้องในข้อหานี้

จึงพิพากษาว่า กระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่างกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายมาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงิน 2 กระทงๆ ละ 2 ปี ให้จำคุกนายเอื้อน กลิ่นสาลี หรืออดีตพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา รวมจำคุก 6 ปี และนายสมทรง อดีตอรรถกิจโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส จำเลยที่ 2 จำคุก 2 กระทงๆ ละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายโกศล ใสสุวรรณ ทนายความอดีตพระพรหมดิลก จำเลยที่ 1 เปิดเผยว่าจะอุทธรณ์สู้แน่นอนคดี โดยศาลพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 6 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 (ผู้ช่วยเจ้าอาวาส) เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่เราเห็นว่าศาลสามารถจะรอลงอาญาได้ นอกจากนี้ สำหรับคดีฟอกเงินก็เคยมีคดีของเบนซ์ เรซซิ่งที่ศาลสั่งจำคุก 8 ปี ต่อมาได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าเราก็จะพิจารณาขอยื่นประกันตัวอดีตพระพรหมดิลก และอดีตพระอรรถกิจโสภณ จำเลยที่ 1-2 ด้วย

ส่วนประเด็นที่จะอุทธรณ์สู้คดีนั้น แม้ข้อเท็จจริงยุติว่าวัดสามพระยา ไม่มี ร.ร.พระปริยัติธรรมแผนกสามัญฯ แต่วัดได้ของบอุดหนุนบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารร่วมธรรมและ พศ.ได้พิจารณางบประมาณให้แล้ว ซึ่งวัดสามพระยาได้มอบฉันทะไปทำเรื่องรับเช็คจำนวน 5 ล้านบาทแล้วนำมาใช้ก่อสร้างอาคารจริง ๆ จึงไม่ใช่การทุจริต และเราเห็นว่าขั้นตอนวิธีทางปฏิบัติโอนเช็คดังกล่าว พศ.ใช้กับทุกวัด แต่ถ้าเป็นเงินอุดหนุน ร.ร.พระปริยัติธรรม พศ. จะใช้ช่องทางโอนเงินเข้าบัญชีของวัดโดยตรง ซึ่งเราอุทธรณ์จะสู้ในประเด็นนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีทุจริตการจัดสรรงบประมาณ พศ. นับตั้งแต่ปี 2557 ให้กับวัดต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและวัดในพื้นที่ กทม. มูลค่านับ 150 ล้านบาทนั้น พนักงานสอบสวนได้กล่าวหา “อดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่ทั้งวัดสามพระยา, วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กับกลุ่มฆราวาส และกลุ่มข้าราชการสำนัก พศ.รวมกว่า 20 ราย

ส่วนกรณีที่ยังมีการกล่าวหาอดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่ต่างจังหวัด ร่วมกับข้าราชการสำนัก พศ. ฟอกเงินที่ได้จากฉ้อฉลจูงใจให้วัดพื้นที่ต่างจังหวัดมาร่วมรับการจัดสรรงบประมาณ พศ. ในส่วนที่เป็นเงินอุดหนุนให้ 12 วัด13 รายการ จำนวน 28 ล้านบาท ที่กำหนดให้ใช้ในการบูรณะซ่อมแซมวัด หรือเพื่อโครงการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือโครงการเผยแผ่กิจกรรมทางศาสนานั้น แล้วภายหลังได้เรียกเงินคืนไปเป็นแระโยชน์พวกตัวเองนั้น

ศาลอาญาคดีทุจริตฯเพิ่งตัดสินคดีสำนวนแรกไปเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2562 โดยพิพากษาจำคุก 26 ปีโดยไม่รอลงอาญา นายสมเกียรติ ขันทอง อายุ 55 ปี อดีตพระครูกิตติ พัชรคุณ และอดีตเจ้าคณะอำเภอชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และเจ้าอาวาสวัดลาดแค ในความผิดฐานฟอกเงิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน