เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่สำนักงานเขตประเวศ นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำ โดยมีนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ประธานกลุ่มเขต ทั้ง 6 กลุ่มเขต คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

201606201549457-20030315184009

นางผุสดี กล่าวว่า ขอความร่วมมือทุกเขตให้ช่วยกันดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้ จะต้องดูแลพื้นที่จุดเสี่ยงด้วย อย่างไรก็ตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักพัฒนาสังคม ลงพื้นที่แจ้งเตือนประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อม สำนักเทศกิจ และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเตรียมถุงยังชีพ รถลากจูง เจ้าหน้าที่ประจำจุดต่างๆทั่วทุกพื้นที่ สำนักอนามัย จัดเตรียมยา สำนักงานเขตจัดเตรียม วัสดุอุปกรณ์ ในการทำสะพานไม้ให้กับประชาชน สำนักสิ่งแวดล้อม จัดเตรียมตู้สุขาเคลื่อนที่ และ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังขยะหน้าตะแกรง สำนักการโยธา จัดเตรียมเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม กทม.เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจนถึงวันที่ 4 ต.ค. นี้

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ปริมาณฝนสะสมในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1-29 ก.ย. โดยเฉพาะเขตหลักสี่ สายไหม ดอนเมือง อยู่ที่ 490 มิลลิเมตร ส่วนในเขตกรุงเทพฯตะวันออก อยู่ที่ 460 มม. ทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่มีจำนวนมาก

สถานการณ์ฝนตกปัจจุบันขณะนี้ร่องความกดอากาศพาดผ่านกรุงเทพฯ จะทำให้ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป จะมีฝนตกหนักจึงให้ทุกเขตช่วยเฝ้าระวังด้วย ขณะเดียวกันยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์พายุชบาอย่างใกล้ชิดด้วย อย่างไรก็ตาม กทม.แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่คลองเปรมประชากร ช่วงพื้นที่เขตหลักสี่ ดอนเมือง คลองแสนแสบช่วงพื้นที่เขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรี คลองประเวศบุรีรมย์ ช่วงพื้นที่เขตลาดกระบัง คลองบางนา ช่วงพื้นที่เขตบางนา ประเวศ และ คลองลาดพร้าว ช่วงพื้นที่เขตสายไหม บางเขน และลาดพร้าว ให้เตรียมความพร้อมด้วย

ส่วนสถานการณ์น้ำที่จะผ่านกรุงเทพฯ ยังมีระดับไม่สูงมาก แต่จะต้องเฝ้าระวังน้ำที่ถูกปล่อยมาจากจังหวัดชัยนาท 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม.) ซึ่งจะเข้ามายังประตูระบายน้ำคลอง 13 เขตหนองจอก วันละ 6 ล้านลบ.ม. ซึ่งเขตหนองจอก มีนบุรี คลองสามวา และลาดกระบัง จะต้องเฝ้าระวังน้ำที่เข้ามาด้วย ขณะเดียวกันจะต้องเฝ้าระวังฝนตกในพื้นที่ด้วย รวมทั้งเฝ้าระวังบ้านประชาชนที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งขีดความสามารถแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,400-2,500 ลบ.ม. ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ 1,600 ลบ.ม. ดังนั้นให้เขตที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลงพื้นที่ตรวจและดูแลพื้นที่ฟันหลอด้วย

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ กทม.ยืนยันว่าจะไม่ปิดประตูระบายน้ำ แต่จะเปิดประตูระบายน้ำในระดับ 10-30 เซนติเมตรเท่านั้น เมื่อกทม.ควบคุมระดับน้ำในพื้นที่ได้แล้ว กทม.จะเปิดประตูระบายน้ำ 1-3 เมตร เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากจังหวัดใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม หากมีกรณีที่ถนนไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากน้ำท่วมหรือชำรุด สนน.ได้ประสานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อออกข้อความแจ้งเตือนประชาชนเพื่อวางแผนการเดินทางต่อไป

ด้านนายอมร กล่าวว่า ขณะนี้สำนักการระบายน้ำ (สนน.) เหลือกระสอบทรายอยู่เพียง 400,000 กระสอบเท่านั้น เนื่องจากได้นำไปวางในพื้นที่ฟันหลอและพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ดังนั้นขอให้เขตกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก เตรียมพร้อมกระสอบทรายด้วย ซึ่งปัจจุบันทุกเขตได้เตรียมพร้อมกระสอบทรายไว้แล้วอย่างน้อย 2 แสนกระสอบ อย่างไรก็ตามให้ทุกเขตจัดเจ้าหน้าที่ ประจำจุดต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน