บิ๊กตู่ กล่าวเปิด ประชุมผู้นำอาเซียน “เสริมแกร่งภายใน ประชาชนคือศูนย์กลาง”

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 22 มิ.ย. ที่โรงแรมดิแอทธินี กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดการ ประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 อย่างเป็นทางการว่า ขอแสดงความยินดีกับท่านประธานาธิบดีโจโค วิโดโด (อินโดนีเซีย) ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกอุ่นใจที่วันนี้จะได้พบบรรดามิตรที่คุ้นเคยอีกครั้งหลังจากที่ได้พบกันที่สิงคโปร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้แลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์ ทบทวนการดำเนินการ เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายและทิศทางของอาเซียน โดยในช่วงการประชุมเต็มคณะนี้ ขอเริ่มด้วยหัวข้อเรื่องการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน และเป็นพื้นฐานสำหรับอนาคตที่มั่นคงของประชาคมอาเซียนและของประชาชนชาวอาเซียนกว่า 640 ล้านคน

เพราะประชาชนเป็นหัวใจของประชาคมอาเซียน ดังนั้น เป้าหมายสำคัญ คือ ประชาชนจะต้องเป็นศูนย์กลาง มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต เพราะปัจจุบัน ประชาชนอาเซียนต้องเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่หลากหลาย เราต้องร่วมกันขบคิดและหาทางออกะเสริมสร้างประชาคมอาเซียนอย่างไรให้เป็นที่พึ่งให้กับประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้ ไทยได้กำหนดแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียน คือร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ซึ่งจะสามารถเป็นแนวทางในการสร้าง ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต และเพิ่มคุณค่าทางยุทธศาสตร์ให้กับอาเซียน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและ ความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

แนวคิดหลักดังกล่าว จะเป็นการสานต่อข้อริเริ่มที่ดีของประธานอาเซียนในปีที่ผ่าน ๆ มา และสร้างสรรค์ข้อริเริ่มใหม่ ๆ เพื่ออนาคตของอาเซียนของเรา ในการนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะสนับสนุนแนวทางดังกล่าวนี้ของไทย และร่วมกันทำงานเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ของอาเซียนในทุกมิติสืบต่อไป ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลอดกว่า 5 เดือนที่ผ่านมา อาเซียนได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ และในโอกาสนี้ จึงขอประเมินและเสนอแนะประเด็นที่อาเซียนควรร่วมกันผลักดันอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ซึ่งได้แก่ (1) การส่งเสริมความมั่นคงที่ยั่งยืน (2) การสร้างอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ และการส่งเสริมการพัฒนาด้านดิจิทัลในอาเซียน และ (3) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ซึ่งการส่งเสริมความมั่นคงที่ยั่งยืน เพื่อรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน อาเซียนควรมุ่งเน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ ทั้งระหว่างอาเซียนด้วยกันเองและกับภาคีภายนอก

โดยอาเซียน มีเครื่องมือสำคัญในมืออยู่แล้ว คือ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ซึ่งมีหลักการที่อาเซียนสามารถส่งเสริมให้แพร่หลายออกไปยังภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอินโด-แปซิฟิก

นอกจากนี้ อาเซียนยังต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของอาเซียน มีมูลค่าถึงแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อาเซียนจึงควรส่งเสริมการบริหารจัดการชายแดนที่มีประสิทธิภาพ

โดยใช้ประโยชน์จากโรดแมปที่กำลังจัดทำขึ้นเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านดังกล่าว จึงขอเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ด้านอาชญากรรมข้ามชาติศึกษาและดำเนินการในเรื่องนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสร้างอาเซียนที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทางยุทธศาสตร์ให้กับอาเซียนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนอาเซียนและการเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าของโลก โดยอาเซียนควรผลักดันการใช้ประโยชน์จากกลไกต่าง ๆ ของอาเซียนให้เกิดผล

ในส่วนของการสร้างดิจิทัลอาเซียน (Digital ASEAN) เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และ การพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตประจำวันของประชาชนของพวกเรา อาเซียนควรสร้างโอกาสและเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความท้าทายนี้

โดยการสร้างเสริมระบบนิเวศทางดิจิทัล ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเร่งจัดทำแผนแม่บทดิจิทัลอาเซียน ค.ศ. 2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025) ให้แล้วเสร็จในปีนี้ และการเพิ่มมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนอาเซียน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างระบบความปลอดภัยเพื่อปิดช่องโหว่ที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งคาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับอาเซียนถึงหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2025

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน