เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า หลังจาก ก.ค.ศ.มีมติเปิดให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2560 นั้น มีเสียงสะท้อนจากทางคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ นักศึกษาหลักสูตรครู 5 ปีว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งตนยอมรับและเข้าใจว่าทำไมถึงโกรธตน ดังนั้นจึงนำข้อท้วงติงต่างๆ เข้าหารือที่ประชุม ก.ค.ศ. และมีมติให้ปรับปรุงแนวปฏิบัติในการรับสมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยใหม่ ซึ่งจะเปิดรับสมัครสอบในวันที่ 29 มี.ค.เป็นวันแรก

วันเดียวกันที่ ห้องประชุมจรูญ มิลินทร์ ชั้น 7 สำนักงาน ก.ค.ศ. อาคารรัชมังคลาภิเษก 1 ศธ. นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูง ศธ. ผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เกี่ยวกับประเด็นการแสดงความคิดเห็นการสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1/2560 ว่า การสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้ สพฐ.จะเปิดสอบทั้งสิ้น 61 สาขาวิชา มีอัตราบรรจุได้ 6,381 อัตรา ใน 64 จังหวัดและสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ซึ่งแนวปฏิบัติใหม่ในจำนวน 61 สาขาวิชาที่เปิดสอบ กำหนดให้ผู้สมัครต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือ ผ่านหลักสูตรครู 5 ปี จำนวน 36 สาขาวิชา ส่วนที่เหลืออีก 25 สาขาวิชาจะเปิดให้ผู้ที่มีใบอนุญาตฯ หรือไม่มีใบอนุญาตฯ มาสมัครก็ได้

“ในจำนวนนีเจำแนกเป็น กลุ่มสาขาวิชาที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตร 5 ปี จำนวน 17 วิชา ได้แก่ กายภาพบำบัด, กิจกรรมบำบัด, การเงิน/การบัญชี, จิตรกรรม, จิตวิทยาคลินิก, ดนตรีพื้นเมือง, นาฏศิลป์(โขน), ภาษาพม่า, ภาษาเวียดนาม, ภาษาสเปน, เศรษฐศาสตร์, โสตทัศนศึกษา, หลักสูตรและการสอน, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างก่อสร้าง), อุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างยนต์) และภาษามลายู และกลุ่มสาขาวิชาที่ขาดแคลนเรื้อรัง 8 สาขา ซึ่งเปิดสมัครแล้วไม่มีผู้สมัคร หรือ สอบผ่านขึ้นบัญชีได้น้อยมาก ทำให้โรงเรียนขาดครูอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ วิทยาศาสตร์, วิทยาศาสตร์ทั่วไป, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน” ปลัดศธ. กล่าว

นายชัยพฤกษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับปฏิทินการสอบครูผู้ช่วยยังคงเดิม คือ รับสมัครสอบวันที่ 29 มี.ค. – 4 เม.ย.2560 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบวันที่ 10 เม.ย. สอบข้อเขียนภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม อุดมการณ์ของความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน วันที่ 22 เม.ย.สอบภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 23 เม.ย. สอบสัมภาษณ์ ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ วันที่ 24 เม.ย.และประกาศผลภายในวันที่ 28 เม.ย.

โดยการรับสมัครสอบครั้งนี้ สพฐ.จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาสมัครสอบที่ไม่มีใบอนุญาตฯ ที่หน่วยรับสมัครทุกหน่วยโดยให้ผู้สมัครแจ้งว่าไม่มีหลักฐาน จากนั้น สพฐ.จะบันทึกข้อมูลไว้ หากสอบผ่าน สพฐ.จะทำเรื่องขอไปยังสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อออกหนังสืออนุญาตปฏิบัติการสอนให้ และให้ไปผู้ที่สอบผ่านไปรายงานตัวที่สถานศึกษาโดยไม่ต้องเดินทางมาขอที่คุรุสภาเอง ขณะเดียวกัน สพฐ.จะมีการติวเข้มเป็นกรณีพิเศษก่อนทำการสอนจริงด้วย

ส่วน ศ.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) และคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับชัยพฤกษ์ ว่า สำหรับการสอบครูผู้ช่วย ของสพฐ.ประจำปี 2560 ที่เปิดสอบ 61 สาขา โดยมี 25 สาขาวิชาที่จะเปิดให้ผู้ที่จบ ป.ตรีสาขาอื่นมาสอบได้นั้น ส.ค.ศ.ท.ยินดีกับแนวทางนี้ เพราะจะเป็นการประเมินคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และพิสูจน์ว่าเรามีความรู้ความสามารถสู้เขาได้หรือไม่

ส่วน 17 สาขาวิชาที่ สพฐ.ระบุว่าไม่เคยเปิดสอนหลักสูตรครู 5 ปีนั้น ในจำนวนนี้มี 3 วิชา คือ โสตทัศนศึกษา หลักสูตรและการสอน และอุตสาหกรรม ที่เปิดสอนอยู่ แต่ชื่อวิชาอาจไม่ตรงกับที่ สพฐ.กำหนด ดังนั้นจะต้องเทียบรายวิชาให้ตรงกันเพื่อให้เด็กสมัครสอบได้ ส่วนที่เหลืออีก 8 สาขาวิชาซึ่งขาดแคลนเรื้อรังนั้น ส.ค.ศ.ท.ยอมรับที่ให้คนอื่นมาสอบแข่งขัน

ประธาน ส.ค.ศ.ท.กล่าวต่อว่า ส.ค.ศ.ท.พอใจในมติของ ก.ค.ศ.ที่ได้ปรับปรุงแนวปฏิบัติใหม่ และในการประชุมเสวนาเรื่อง “รัฐเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนครูมาเป็นครู ได้หรือเสีย” ในวันที่ 1 เม.ย.นี้นั้น ยืนยันว่าเป็นการประชุมทางวิชาการ และยืนยันว่าส.ค.ศ.ท.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่า 5 หมื่นรายชื่อเพื่อไล่ รมว.ศธ.อย่างแน่นอน เพราะเราใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ใช้วิธีการแบบนี้

นอกจากนี้ ตนยังได้ประสานกับปลัด ศธ.ขอเข้าพบ รมว.ศธ.เพื่อคุยกันใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.จะดำเนินการตามมติ ก.ค.ศ.ไม่มีการแตะวิชาชีพครูอีกแล้ว ไม่ใช่ให้ใครก็ได้เข้ามาสอบเป็นครู ทำอะไรต้องระมัดระวัง และ 2.ส.ค.ศ.ท.จะประเมินเป็นรายสถาบันว่าเราจะต้องพัฒนาตนเองให้มีมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อไม่ให้ใครมาว่าคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้ ถ้าทำได้ไม่ดีก็ไม่ต้องมาผลิตครู

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน