ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า

เมื่อเวลา 17.35 น. วันที่ 15 ต.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผศ.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เฝ้าฯ รับเสด็จ

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จเข้าสู่พลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร จากนั้น ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล ต่อจากนั้น ผู้บริหารองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และหนังสือที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เปิดพิพิธภัณฑ์

ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคาร “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธยบนแผ่นศิลา แล้วเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ประกอบด้วย นิทรรศการโลกของเรา นิทรรศการโลกของสิ่งมีชีวิต นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก และเสด็จฯ กลับ

 

สำหรับพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งที่ 4 ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ริเริ่มเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 1,890 ล้านบาท ให้ดำเนินการจัดสร้าง ภายใต้หัวข้อหลักคือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักการคิด วิธีทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงนำไปแก้ปัญหาและพระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทั้งยังเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ระบบนิเวศของโลกและประเทศไทย สถานภาพของทรัพยากรดิน น้ำ ระบบนิเวศ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์

ภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ Our Home เรียนรู้เรื่องราวของการกำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะและโลก จัดแสดงโมเดลของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ เช่น สยามโมไทรันนัส ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, โซน Our Life จัดแสดงสภาพแวดล้อมและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ ที่จะพาไปสัมผัสกับภูมิอากาศและภูมิประเทศต่างๆ เช่น แอนตาร์กติกา โดยมีน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีพื้นกระจกด้านบน และ โซน Our King นำเสนอแนวคิดการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีกิจกรรมต่างๆ อย่างการจำลองเป็นนักบินฝนหลวงผ่านเครื่องวีอาร์ และนิทรรศการจำลองเครื่องมือเครื่องใช้ที่พระองค์ใช้ทรงงาน รถยนต์ทรงงานพระที่นั่งของจริง และห้องทรงงานจำลอง นับเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก บนเนื้อที่ 42 ไร่ มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในเดือนธ.ค. 2562

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน