ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯ นำผู้เสียหาย 40 คน เข้าร้องทุกข์ “ดีเอสไอ” หลังถูกหลอกร่วมลงทุนแชร์เหมืองทองคำเกสูมาโกตา (ประเทศไทย) จำกัด อ้างได้รับผลตอบแทนสูง สูญกว่า 500 ล้านบาท คาดมีผู้เสียหายหลายพันรายตกเป็นเหยื่อ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 เม.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย นำผู้เสียหายแชร์เหมืองทองคำเกสูมาโกตา (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KKT ประมาณ 40 คน เดินทางเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ดำเนินคดีกับบริษัทเกสูมาโกตาฯ ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่อง

นายสามารถ กล่าวว่า ในวันนี้ทางสมาพันธ์ฯนำเอกสารและข้อมูลของผู้เสียหายที่ถูกหลอกจากบริษัทเกสูมาโกตาฯ ซึ่งอ้างว่าลงทุนเหมืองทองคำ และชักชวนให้บุคคลมาร่วมลงทุนในหุ้นเหมืองทองคำ โดยพฤติการณ์มีการเสนอขายหุ้นละ 2,800 บาท แล้วจะได้รับผลตอบแทนสัปดาห์ละ 200-300 บาท โดยจะได้ผลตอบแทนทุกสัปดาห์ เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 17 ก็จะได้รับเงินต้นคืน ซึ่งผู้เสียหายไม่มีใครได้รับผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง

อีกทั้ง เมื่อไปติดตามทวงถามเงินต้นก็ไม่ได้รับคืนเช่นกัน ซึ่งมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่ากรณีดังกล่าวจะมีผู้เสียหายหลายพันราย ดังนั้น จึงอยากให้ดีเอสไอดำเนินการติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย พร้อมทั้งติดตามทรัพย์มาคืนให้กับผู้เสียหายโดยเร็วที่สุด

ด้าน นายธนพงษ์ รู้คงประเสริฐ และนายวรพงษ์ รู้คงประเสริฐ ผู้เสียหายที่สูญเงินทุนรายละกว่า 6 ล้านบาท กล่าวว่า ตนรู้จักกับบริษัทแห่งนี้ผ่านทางสื่อโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ โดยมีการโฆษณาว่าหากร่วมลงทุนกับบริษัทนี้ก็จะได้รับเงินปันผลสูง อีกทั้ง ตนได้สอบถามไปยังกลุ่มเพื่อนของตนที่ร่วมลงทุนก่อนหน้านี้ ก็ทราบว่าได้รับเงินปันผลจริงตามที่มีการโฆษณา จึงทำให้ตนตัดสินใจร่วมลงทุน ซึ่งในช่วงแรกก็ได้ผลตอบแทนจริง จนทำให้ลงทุนไปเรื่อยๆเป็นเงินประมาณ 6 ล้านบาท เป็นหุ้นทั้งหมด 2,045 หุ้น

ทั้งนี้ ตนได้รับเชิญให้เดินทางไปดูกิจการเหมืองทองคำของบริษัทดังกล่าว ซึ่งอยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งตนไม่ได้พบกับเจ้าของบริษัท มีเพียงพนักงานของบริษัทเท่านั้นที่เป็นผู้พาไป เมื่อไปถึงเหมืองแร่ทองคำก็พบว่ามีกิจการจริง ได้เห็นเครื่องจักรและร่วมร่อนทองด้วย อย่างไรก็ตาม ตนก็ไม่มั่นใจว่าเหมืองทองคำดังกล่าว จะเป็นของบริษัทเกสูมาโกตาฯจริงหรือไม่

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ดีเอสไอก็จะรับเรื่องดังกล่าวไว้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง อีกทั้ง กรณีนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีอีกกลุ่มเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนไว้แล้ว ซึ่งทางตัวเรื่องของกลุ่มแรกก็ได้พิจารณาเสนออธิบดีดีเอสไอไปแล้ว ส่วนเรื่องในวันนี้ก็จะนำเสนอไปเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ในชั้นต้นเรื่องดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดในคดีแชร์ลูกโซ่ แต่ขณะนี้เอกสารเท่าที่มียังไม่เพียงพอ จึงได้มอบหมายให้สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ไปดำเนินการหาข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว ส่วนผู้เสียหายรายอื่นๆสามารถเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนโดยตรงได้ที่ดีเอสไอ

สำหรับแผนการลงทุนที่นำมาใช้จูงใจให้ร่วมลงทุน ระบุว่า บริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของกิจการเหมืองทองในประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งเมื่อปี 2537 และขยายกิจการมาเปิดสาขาในประเทศไทยในปี 2559 โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในเดือนมี.ค.2559 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อประกอบการสินค้าสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ การขายส่งแร่โล่หะที่เป็นเหล็กและนอกกลุ่มเหล็ก ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 45 ม.7 ถ.รามโกมุท ต.ยี่งอ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส โดยต้องการขยายการลงทุนผ่านการขายหุ้น 1 ล้านหุ้น

โดยจะจ่ายปันผลทุกวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ ลงทุนขั้นต่ำหุ้นละ 280 บาท ปันผลสัปดาห์ละ 200 บาท ครบ 17 สัปดาห์คืนทุน หากลงทุน 100 หุ้น 280,00 บาท ปันผลสัปดาห์ละ 20,000 บาท ครบ 17 สัปดาห์ รับเงิน 880,000 บาท ในระยะแรกผู้ร่วมลงทุนได้รับเงินปันผลตามกำหนด กระทั่งเดือนพ.ย.2559 บริษัทหยุดจ่ายเงินปันผลอ้างว่าจะนำเงินมาคืนในเดือน ม.ค. 2560 และเลื่อนไปเป็นเดือนก.พ. แต่สุดท้ายไม่มีการชำระค่าเสียหาย ผู้เสียหายจึงรวมตัวมาร้องทุกข์ให้ดีเอสไอดำเนินคดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน