เปิดเหตุผลศาลรธน.วินิจฉัย ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ห้ามมิให้กรรมการบริหารไปจดตั้งพรรคขึ้นใหม่ หรือมีส่วนร่วมตั้งพรรคใหม่ 10 ปี

พรรคอนาคตใหม่ / เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 21 ก.พ. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีพรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาท

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

โดยองค์คณะตุลาการฯ ระบุ ผู้ถูกร้องทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร โดยในสัญญาระบุว่า ได้รับเงินแล้วและได้รับดอกเบี้ย มีการทยอยชำระเงินและดอกเบี้ย พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีอำนาจรวบรวมข้อเท็จจริงตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง กรณีผู้ร้องว่านายทะเบียนพรรคการเมือง อาศัยข้อเท็จจริงมาจากการสืบสวนก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระเบียบกกต.

ศาลเห็นว่าเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยไม่ว่าจะโดยทางใด ถ้ามีหลักฐานหรือมีมูลเพียงพอว่าอาจจะเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กกต.มีหน้าที่ให้สืบสวน ไต่สวน หากไม่มีมูลให้สั่งยุติเรื่อง หากปรากฏหลักฐาน ให้ กกต.สั่งให้ดำเนินคดีโดยเร็ว แม้ผลปรากฏไม่มีมูลความผิด แต่ความเห็นของผู้ร้องเป็นอิสระไม่ขึ้นกับคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน

ทั้งนี้ ผู้ร้องมีมติกรณีที่ถูกกล่าวหา ให้นายทะเบียนทำตามอำนาจหน้าที่ มีคำสั่งที่ 7/2562 ตั้งกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานายธนาธร กู้ยืมเงินฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ กรรมการดังกล่าว รวบรวมหลักฐานเสนอผู้ร้อง ก่อนมีเหตุให้ชื่อว่าผู้ถูกร้องมีความผิด ก่อนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการดำเนินคดี จึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

กรณีคำร้องศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรคผู้ร้องนั้น ศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้คดีที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาล ศาลจึงมีอำนาจพิจารณายุบพรรคผู้ร้องได้ ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้อง จึงฟังไม่ขึ้น

ทั้งนี้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง ต้องมีมาตรการควบคุมการบริหารเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันของประชาชน จึงต้องพิจารณาเรื่องที่มาของทรัพย์สินที่ใช้ในพรรคการเมืองว่ามีที่มาอย่างไร ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กฎหมายจึงกำหนดไม่ให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับเงินบริจาคที่มิชอบ

กรณีพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้หรือไม่ เห็นว่า การดำเนินกิจกรรมต้องอาศัยเงินรายได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เงินส่วนใดที่นำมาทำกิจกรรม หากได้มาโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด แม้ไม่ได้กำหนดให้กู้ยืมแต่ก็ไม่ได้รับรองให้ทำได้ เงินกู้ไม่ใช่รายได้แต่ก็เป็นรายรับ จึงต้องทำตามที่กฎหมายกำหนด การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับกฎหมายเท่านั้น

เมื่อพิจารณาตาม กฎหมายพรรคการเมือง บริจาค หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดด้วย การให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การให้กู้ โดยไม่คิดไปตามปกติทางการค้า ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใดต่อพรรคการเมือง จึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ คำว่า บริจาคและประโยชน์อื่นใด เป็นความหมายเฉพาะในกฎหมาย เพื่อกำหนดให้พรรคการเมืองทำรายได้ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นประชาธิปไตยในพรรค ให้พรรคไม่เป็นเครื่องมือของใคร

ข้อเท็จจริงของผู้ถูกร้องที่ยื่นต่อผู้ร้อง พบว่าผู้ถูกร้องมีรายได้กว่า 71 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายกว่า 72 ล้าน พบค่าใช้จ่ายสูงรายได้เพียงล้านบาท แต่กลับทำสัญญากู้ยืมเงิน 2 ฉบับถึง 192 ล้าน และทำดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า

การกู้ยืมเงินของผู้ถูกร้องเป็นการรับบริจาคเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องกระทำความผิด มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ให้ยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี และห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคไปจดพรรคขึ้นใหม่ หรือมีส่วนร่วมตั้งพรรคใหม่ เป็นเวลา 10 ปี

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน