ครม.คลอดมาตรการ เร่งด่วนป้อง โควิด-19 ตั้งศูนย์ข้อมูลที่ทำเนียบ

วันที่ 3 มี.ค. รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แจ้งว่า ในที่ประชุมครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการเรื่องมาตรการระยะเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาตากโรคติดต่อโควิด-19 ว่า ด้านการป้องกันโรคให้ส่วนราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการภายในก็ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้น ระงับหรือเลื่อนการเดินทางไปดูงานฝึกอบรมหลักสูตรหรือประชุมในประเทศที่มีการระบาด และประเทศที่มีการเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งการดูงานหรืออบรมหลักสูตรขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณและจัดขึ้นภายในแระเทศแทนจนดว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่เดินทางกลับ หรือเดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่านประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่ระบาดจำเป็นเป็นต้องสังเกตอาการก่อน มาปฎิบัติงานภายใน 14 วัน ให้เป็นการปฎิบัติงานภายในที่พักโดยไม่ถือเป็นวันลา

ทั้งนี้ให้สำนักงานจ้าราชการพลเรือน(กพ.)จัดทำหลักเกณฑ์สำหรับให้ข้าราชการปฎิบัติงานภายในที่พักโดยให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ส่วนประชาชนทั่วไปที่เดินทางกลับมาจาก หรือเดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่านประเทศเสี่ยง ให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่มีความจำเป็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการขนส่งกลุ่มประชาชนดังกล่าวกลับภูมิลำเนาหรือไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม

รวมถึงการกำกับดูแลกักกันตัวเองในที่พักอาศัย โดยให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน จิตอาสา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)และสถานพยาบาลในพื้นที่ในการติดตามเฝ้าระวังตรวจสอบ และป้องกันอย่างใกล้ชิด

จัดให้มีศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกส่วนราชการ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้สาธารณชน โดยเฉพาะใน

ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรค โควิด-19ในทุกมิติ และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้ากับทุกกลุ่ม เพื่อสร้างการรับรู้ ตระหนัก และขอความร่วมมือจากประชาชนให้ปฎิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยเฉพาะขั้นตอนเฝ้าระวังและป้องกัน

มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันพิจารณาปริมาณสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เช่น หน้ากาก อนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลฆ่าเชื้อ จัดหาให้เพียงพอกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลาโดยจัดลำดับความสำคัญในการกระจายสินค้าที่จำเป็นดังกล่าวตามระดับความเสี่ยงของบุคคล หน่วยงาน สถานที่

เช่น สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และประชาชนทั่วไป

ให้กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการป้องกันเรื่องการกักตุนและควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นทั้งหน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลฆ่าเชื้อ อย่างเคร่งครัด โดยครอบคลุมถึงข่องทางการขายสินค้าออนไลน์

มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่งผู้โดยสาร และท่ารถอย่างเคร่งครัด

มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม จัดเตรียมสถานที่ หรือพื้นที่สำหรับสังเกตอาการในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย โรคระบาด หรือพาหะนำโรค ส่วนกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดหาเวชภัณฑ์ต่างๆเพิ่มเติมให้กับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี รับทราบสถานการณ์และข้อมูลต่างๆเพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

ให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆอย่างเหมาะสม จัดให้มีสวัสดิการพิเศษเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องและครอบครัว

พร้อมกันนี้ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการงาน เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อรองรับ การดำเนินการตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 หากมีความจำเป็น

ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนหลักเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรม ที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมากและมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต การจัดมหรสพ เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่เป็นการดำเนินการของสถานประกอบการค้าตามปกติ

ให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ส่วนกิจกรรมที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ ให้ผู้มีอำนาพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสาธารณชนโดยรวมเป็นสำคัญ

สำหรับด้านการบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้อง นายกฯได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพอทักษ์ รองนายกฯ และนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อเสนอต่อครม.เศรษฐกิจ พิจารณาโดยเร็วและนำเสนอต่อที่ประชุม
ครม.ต่อไป

รวมทั้งให้ข้อมูลต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดเอกภาพ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผ่านศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะตั้งขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตามสำหรับการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบฯครอบคลุมด้านต่างๆ ได้แก่ มาตรการทางภาษี สินเชื่อ และการพักชำระหนี้ มาตรการเ้านงบประมาณ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน มาตรการการจ้างงานและพัฒนาทักษะและมาตรการด้านสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นในชุมชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน