การบินไทยโคม่า คาด 6 เดือนนี้ ขาดทุนทะยาน 1.8 หมื่นล้าน กระแสเงินสดติดลบ 7.8 พันล้าน คาดส่วนทุนติดลบ 6.2 พันล้านไตรมาส 2 ฝ่ายบริหารเร่งชงแผนฟื้นฟู ลุยหั่นค่าใช้จ่ายปลดพนักงาน เปิดเออร์รี่-ลดชนิดเครื่องบิน-โยนพนักงานจ่ายภาษี ภงด.เอง

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงฐานะการเงินของบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ว่า คาดว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี2563 (ม.ค.-มิ.ย.) บริษัทจะประสบปัญหาขาดทุนราว 18,038 ล้านบาท ขาดทุนมากกว่าปี 62 ทั้งปีที่ขาดทุนรวมทั้งสิ้น 1.2หมื่นล้านบาท โดย ณ สิ้นสุดเดือยมิ.ย. 63 หรือในช่วง 6 เดือนแรก บริษัทจะมียอดกระแสเงินสดติดลบ 7,839 ล้านบาท มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย(ไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน) 139,745 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น(ส่วนทุน) ติดลบ 6,273 ล้านบาท

“ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด19 จะส่งผลกระทบ ทำให้ผลประกอบการของการบินไทยติดลบทุกเดือนในปี 63 โดยกระแสเงินสดจะเริ่มติดลบในเดือน พ.ค.63 ไม่นับรวมเครดิตไลน์ และติดลบต่อในเดือน มิ.ย. เมื่อนับรวมเครดิตไลน์ ซึ่งจะทำให้ครึ่งปีแรกมีกระแสเงินสดติดลบรวม 7,839 ล้านบาท และ มีภาระหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยไม่รวมค่าเช่าเครื่องบินรวมทั้งสิ้น 139,745 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังคาดว่าภายในไตรมาส2 การบินไทยจะประสบปัญหาหนักถึงขนาดมีส่วนของทุนติดลบ เป็นวงเงินรวม 6,273 ล้านบาทอีกด้วย”

รายงานข่าวแจ้งต่อว่าปัญหาการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด19ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการบินไทยทำให้ต้องหยุดบินเที่ยวบินเชิงพาณิชย์เพื่อขนส่งผู้โดยสาร100% เป็นเวลา2เดือน คือระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 63 เพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งการบินไทยได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบจากโควิด19 เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้นช่วง 8 เดือน คือ เม.ย.-พ.ย.ปี 2563

โดยมีแผนที่จะกู้เงินฉุกเฉินระยะสั้น (Bridging Loan) วงเงิน 58,103 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4%/ปี เพื่อคงสภาพคล่องขั้นต่ำ ที่ 10,000 ล้านบาทสำหรับการดำเนินงาน ซึ่งเป็นการกู้เงินแบบชั่วคราวเพื่อรอแหล่งเงินถาวรในภายหลังที่คาดว่าจะมีการเพิ่มทุนประมาณ 77,044ล้านบาท โดยวงเงินกู้ฉุกเฉินดังกล่าวจะเป็นการกู้ระยะสั้นไม่เกิน 2-3ปี และต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งขณะนี้แผนการกู้เงินฉุกเฉินยังไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากกระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมระบุว่าแผนฟื้นฟูและแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบจากโควิด19ยังมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่าสำหรับแผนฟื้นฟูการบินไทยซึ่งฝ่ายบริหารได้จัดทำ โดยได้มีการผนวกผลกระทบจากวิกฤติโควิด19 ไว้แล้วนั้นมีการระบุถึงปัญหาหลักของการบินไทยว่า ปัจจุบันบริษัทประสบปัญหามีเรื่องเส้นทางบินที่ขาดทุนมากกว่าเส้นทางที่ทำกำไร, อัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินต่ำกว่าสายการบินคู่แข่ง, ฝูงบินมีหลายแบบทำให้ต้นทุนดารดำเนินงานบำรุงรักษาสูงกว่าคู่แข่ง ,มีการ พึ่งพาการขายตั๋วผ่านตัวแทนจำหน่ายและตั้งราคาจำหน่ายไม่มีประสิทธิภาพ และองค์กรมีขนาดใหญ่และบุคคลการเป็นจำนวนมาก

สำหรับกลยุทธ์ตามแผนฟื้นฟูประกอบด้วย 6 ด้านหลัก คือ 1.การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน(Network Strategy) คือยกเลิกเส้นทางบินที่ขาดทุนต่อเนื่อง ลดความถี่เที่ยวบิน เปลี่ยนขนาดเครื่องบินให้เหมาะสม และเร่งวางแผนเส้นทางบินและฝูงบินอีก5 ปี ข้างหน้า 2.การปรับปรุงแผนฝูงบิน (Fleet Strategy)คือลดประเภทและแบบเครื่องบินในฝูงบิน จาก 7ประเภท9แบบเครื่องยนต์ เป็น6ประเภท7แบบเครื่องยนต์ ,เร่งขายเครื่องบินและปลดเครื่องเพิ่มเติมจากการปรับลดเส้นทางบิน

3. ด้านการพาณิชย์( Commercial Strategy) คือเร่งปรับระบบตัวแทนจำหน่ายและช่องทางขายตั๋วโดยสาร ด้วยการให้ค่าตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่นแทนการลดราคาตั๋วโดยสารเหมือนในอดีต และขายผ่านออนไลน์มากขึ้น,ปรับเกณฑ์การจองบัตรโดยสารแบบกลุ่ม เพื่อลดอัตราการยกเลิกบัตรโดยสาร และเร่งจัดทำกลยุทธ์ลูกค้าองค์กรที่สร้างรายได้สูงทั้งบริษัทชั้นนำของไทยและบริษัทข้ามชาติ

4. การปรับปรุงการปฏิบัติการและต้นทุน (operations&Cost Strategy )คือ ปรับปรุงประสิทธิภาพซ่อมบำรุง,ปรับขนาดเครื่องบินแต่ละเที่ยวบินให้เหมาะกับระยะทำการบินที่กำหนดในสัญญาซ่อม เพื่อลดค่าใช้จ่ายการซ่อม, ลดค่าใช้จ่ายในสถานีต่างประเทศที่ไม่จำเป็น

5.การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร(Organization Strategy)คือปรับลดขนาดองค์กร และปรับลดบุคลากรซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 21,333 คนให้สอดคล้องกับเครือข่ายเส้นทางบินและฝูงบินที่ปรับลดลง 50% โดยเตรียมที่จะเปิดโครงการสมัครใจลาออกตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด และนำเกณฑ์ดัชนีชี้วัดคุณภาพการทำงานมาใช้ในการการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานหากไม่ผ่านเกณฑ์ อาจจะถูกปรับออก ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องจากพนักงานได้ดีหากถูกปลดออก ,

ปรับโครงสร้างบริษัทให้มีลำดับขั้นของการบัญชาการไม่เกิน 8 ขั้น ,ปรับโครงสร้างผลตอบแทนโดยให้มีการกำหนดตัวชี้วัดผลงานหรือ เคพีไปเพื่อนำไปประเมินค่าตอบแทน ,ให้พนักงานรับภาระภาษีเงินได้เอง, ปรับลดอัตราเงินค่าล่วงเวลา,ปรับลดค่าพาหนะ ปรับลดสิทธิบัตรโดยสารโดยเทียบเคียงกับสายการบินอื่น ,ปรับลดวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี และสะสม,ปรับลดสิทธิพนักงานเกษียณอายุ และปรับลดสิทธิประโยชน์พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำต่างประเทศ

6.การจัดการกลุ่มธุรกิจของบริษัท(Portfolio Strategy) คือ ควบรวมงานด้านกาพาณิชย์และการวางแผนเครือข่ายการบินของสายการบินไทยมายล์ให้การบินไทยเป็นผู้ดำเนินการ ,ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจโดยพิจารณาหาผู้ร่วมธุรกิจ หรือลดการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และเร่งจัดตั้งบริษัทย่อย เช่น ครัวการบิน และฝ่ายช่าง เพื่อลดความซับซ้อนขององค์กรและเปิดรับกระแสเงินสด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน