กรมสุขภาพจิต แนะเสพสื่ออย่างรู้ทัน ภูมิคุ้มกันโควิด ชูแคมเปญ 4 สร้าง 2 ใช้ ในโครงการ ‘พลังใจ พลังฮีโร่ สู้โควิด-19’ เพจเฟซบุ๊กข่าวสด

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เพจเฟซบุ๊กข่าวสด ถ่ายทอดสดไลฟ์สตรีม โครงการ ‘พลังใจ พลังฮีโร่ สู้โควิด-19’ ทางเพจที่มีผู้ติดตามกว่า 13.8 ล้านคน รายการดังกล่าวจัดโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเผยแพร่ให้สาระความรู้ สอดแทรกความบันเทิง และประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปัจจุบัน

รูปแบบการถ่ายทอดออนไลน์ยังสอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อระดมทุนส่งไปช่วยเหลือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ เชิญชวนประชาชนโอนเงินผ่าน บัญชี พลังใจ พลัง ฮีโร่ สู้โควิด-19 กระแสรายวัน เลขที่ 1933065664 ธนาคารกรุงเทพ สาขาประชาชื่น

โดยเวลา 14.00 น. ชม Live Talk : เสพสื่ออย่างรู้ทัน ภูมิคุ้มกันโควิด นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเสพข่าวสารมี 2 แบบ คือปริมาณและคุณภาพ อันดับแรกคือการเสพข่าวมากเกินไป ใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวัน และยิ่งหลายคนมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น เวลาว่างเราก็จะดูข่าว แต่ข่าวไม่ได้มาจากทีวีอย่างเดียว ที่สำคัญเลยคือมาจากมือถือ ฉะนั้นเราจะมีข่าวที่มาจากสื่อสังคมเช่น มาจากไลน์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เป็นจำนวนมาก

“ในหนึ่งวันเราจะใช้เวลาเสพข่าวสารพวกนี้เยอะมาก การที่เราเสพข่าวสารเยอะเกินไป จึงเกิดปัญหาด้านคุณภาพของข้อมูลตามมาด้วย หากเราเสพข่าวเหล่านี้มากก็จะทำให้เกิดการกังวล ความกลัว ความเครียด แล้วในวันนึงจะทำให้เราเคลื่อนไหวร่างกายน้อยหรือเรียกว่า พฤติกรรมอยู่นิ่ง ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการที่เราเสพข่าว โดยกิดจากการที่เราเสพข่าวมากเกินไปคือในเรื่องของปริมาณ และเรื่องคุณภาพคือ เราไม่ได้เสพจากสื่อที่มีความน่าเชื่อถือ การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยจะทำให้เราเกิดปัญหาสุขภาพด้วย”

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ตอนนี้หมอจะแยกเป็น 2 ระดับก่อน ระดับแรก คือ กลุ่มที่มีความกังวลมากไป และระดับที่สอง คือ กลุ่มที่เกิดความท้อแท้สิ้นหวังอันนี้จะเป็นกลุ่มพิเศษ ซึ่งแม้จะมีน้อยแต่ว่าทำให้สังคมเกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจจำนวนมาก ทั้งกับคนใกล้ชิดและคนที่ได้รับรู้ข่าวสาร ในกลุ่มคนที่กลัวมากเกินไปหมอแนะนำว่าให้ย้ายตัวเองจากโซนกลัวเข้าสู่โซนของการเรียนรู้ การทำความเข้าใจ เปลี่ยนให้เป็นความกังวลที่พอดี สิ่งที่ควรทำคือ รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่พอดีในเชิงปริมาณและต้องมีแหล่งอ้างอิงที่สามารถเชื่อถือได้ และที่สำคัญคือไม่ควรส่งต่อ เพราะการส่งข่าวสารที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงออกไป ทำให้เกิด Fake news ในสื่อออนไลน์จำนวนมาก

“ต่อไปส่วนที่สองที่มีข่าวเรื่องของการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งในช่วงสถานการณ์นี้ เท่าที่เราติดตามดูส่วนใหญ่การฆ่าตัวตายปัจจุบันที่บอกว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ช่วงนี้ จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นความเครียดสะสม คือตัวเค้าเองมีปัญหาเยอะอยู่แล้ว พอได้รับการกระทบกระเทือน ภาวะนี้มันอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เค้าจบชีวิตลง เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้เราสามารถป้องกันได้จากตัวเราเอง ถ้าเรารู้ว่าเรามีความเครียด มีความท้อแท้สิ้นหวัง เราสามารถขอรับบริการจากกรมสุขภาพจิตได้ได้ เพราะคนเหล่านี้ถ้าได้รับการบริการ เปอร์เซ็นต์เสี่ยงในการจบชีวิตตัวเองจะน้อยมาก โดยเราก็จะประเมินและช่วยหาทางออก แต่ถ้าภาวะจิตใจย่ำแย่มากๆ เราก็จะมีการให้ยาเพื่อรักษาภาวะซึมเศร้า ถามว่าแล้วเราจะรู้ได้ยังไง หลักการง่ายๆ คือถ้าจิตตกเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ขึ้นไปคือสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาการเริ่มไม่ดี ต้องได้รับการช่วยเหลือ ทีนี้หากบางคนที่ยังไม่ค่อยแน่ใจเราก็จะมีบททดสอบ Mental health Check Up ซึ่งเป็นแอปฯ จากกรมสุขภาพจิตที่ท่านสามารถเข้าไปประเมินได้ นอกจากดูแลตัวเองแล้วเราก็ต้องดูแลคนใกล้ชิดด้วย” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ว่าสมาชิกในครอบครัวติดโควิดแล้วอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน เราต้องให้กำลังใจยังไง ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้แบบปกติ เพราะบางคนสมมติคุณพ่อ คุณแม่ติด เราก็จิตตกไปด้วย หรือกรณีที่เพื่อนบ้านไม่คบค้าสมาคมด้วย หมอขอแยกเป็น 2 กรณีแรกคือ ชีวิตในครอบครัวถ้าเรามีสมาชิกที่ติดโควิด เราควรมีพื้นที่ส่วนตัวของใครของมันในบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อกันเอง แต่ถ้าเราสงสัยว่าติดโควิด ควรไปตรวจในทันทีไม่ต้องห่วงเลย ส่วนประเด็นที่ว่าถ้ามีกรณีที่ความเครียดในครอบครัว จริงๆ แล้วไม่ได้มาจากการติดเชื้อในครอบครัว แต่เป็นผลมาจากการระบาดของโรค ทำให้บางคนตกงาน การดูแลช่วยเหลือในครอบครัว และขยายไปในการช่วยเหลือชุมชนรวมถึงองค์กรด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่หมออยากเตรียมปิดท้ายไว้เลยว่ากรมสุขภาพจิตเราเน้นเรื่องแคมเปญ 4 สร้าง 2 ใช้

“4 สร้างคือ สร้างความปลอดภัยด้วยหลัก 3 ข้อ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง, สร้างความสงบ เหมือนกับเป็นการบอกว่าควรติดตามข่าวอย่างพอดีทั้งปริมาณและคุณภาพ, สร้างความหวัง ว่าเราจะฟันฝ่าร่วมกันไปได้ โรคโควิดนี้อย่างไรก็ตามถ้าหากเป็นขึ้นมาเรามีระบบบริการที่ดี ประเทศไทยได้ระบการยกย่องว่าระบบการจัดการทางด้านสาธารณสุขค่อนข้างยอดเยี่ยม 2 ใช้ คือ ใช้สัมพันธภาพที่เรามีอยู่ให้เป็นประโยชน์ในการให้กำลังใจกัน ,ใช้ศักยภาพที่มีให้เต็มที่ใจการช่วยเหลือกัน แม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเล็กน้อย แต่ถ้าเราช่วยกัน มันก็จะรวมกันเป็นนจุดใหญ่ที่สำคัญในการต่อสู้กับภาวะวิกฤตนี้” ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตกล่าว

ต่อมาเวลา 14.30 – 15.00 น. ชม Live Interview : บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ พ่อพระของคนยาก , “สายด่วนกรมสุขภาพจิต” เวลา 15.00 – 15.50 ชม Live Entertain : – VTR : ตั๊กแตน ชลดา, จ๊ะ อาร์สยาม , Talk & Exercise : “ออกกำลังกายอยู่บ้าน” กับครูดิน สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย , VTR : ปลื้มจิตร์ ถิ่นขาว, รัชนก อินทนนท์, เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ, ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

ปิดท้ายด้วยเวลา 15.50 – 16.00 ชม Live Charity : ระดมทุนบริจาคให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจาก 4 ภาค VDO Call : มิสเตอร์ป๋อง พินิจ พลขัน , VTR โบว์-แวนดา – น้องมะลิ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน