เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ต.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ครอบครัวน้องอิงฟ้า อายุ 4 ปี เหยื่อเมาแล้วขับ ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุถูกรถกระบะขับพุ่งชนขณะจอดติดสัญญาณไฟจราจร บริเวณสี่แยกตลาดผลไม้ตะพง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา พร้อมด้วยนายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กรุงเทพฯ, นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กว่า 40 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการออกมาตรการป้องกัน และแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะเรื่องเมาแล้วขับ เพื่อให้เห็นผลในรัฐบาลนี้ พร้อมข้อเสนอและจุดยืนของภาคประชาชน เรียกร้องให้มีการจัดตั้งศาลจราจร โดยมีนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับเรื่อง

201610101146254-20150129150635

นายเจษฎา กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันกับครบอครัวน้องอิงฟ้าต่อปัญหาเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความสูญเสียให้กับคนบริสุทธิ์ และสร้างความสูญเสียกับครอบครัว สาเหตุเพราะเสรีภาพในการดื่มที่ไม่รับผิดชอบ การขายและดื่มที่ละเมิดกฎหมาย รวมถึงความอ่อนแอของกฎหมายที่บังคับใช้ ทางเครือข่ายจึงขอแสดงจุดยืนต่อกระทรวงยุติธรรม 1.ขอสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบกรวมถึงปัญหาดื่มแล้วขับ และให้กำลังใจในการเดินหน้าสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นจริง

201610101146252-20150129150635

นายเจษฎา กล่าวต่อว่า 2.กรณีเมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ขอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้การเมาแล้วขับเป็นการกระทำที่มีเจตนาเล็งเห็นผลทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความผิดโดยประมาท และสนับสนุนให้เอาผิดกับผู้ที่นั่งมาในรถด้วย ทั้งนี้ ขอให้ยกเว้นรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงให้เอาผิดกับร้านอาหาร ผับบาร์ ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเภทนั่งดื่มที่ร้าน เพราะถือเป็นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่มึนเมาครองสติไม่ได้ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 29 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศาลจราจร เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบก

201610101146253-20150129150635

“จากการเก็บรวบรวมสถิติพบว่า แต่ละเดือนมีอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับเกิดขึ้น 72 ราย ขณะที่แต่ละเดือนจะมีผู้พิการจากการเมาแล้วขับ 23 คน และแต่ละเดือนมีผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ 187 ราย นอกจากนี้ เครือข่ายฯยังได้รวบรวมสมาชิกเหยื่อเมาแล้วขับจากโรงพยาบาลต่างๆกว่า 8,200 ราย ซึ่งพวกเขาเดือดร้อน ทั้งรักษาพยาบาล ค่าเดินทาง การใช้ชีวิต ลำพังเงินเบี้ยพิการไม่เพียงพอ” นายเจษฎา กล่าว

ด้าน นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ภาพรวมอุบัติเหตุจราจรทางบกสร้างความสูญเสียกว่า 200,000 ล้านต่อปี ส่งผลให้คนเสียชีวิตกว่า 26,000 คนต่อปี และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ทำให้ไทยติดอันดับ 2 ของโลกที่มีอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งนี้ พบว่าการร้อยละ 35-40 มีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งเป็นกระทำและถูกกระทำ ทั้งนี้ ล่าสุดรัฐบาลมีการพูดถึงแนวทางการแก้ไข ทางเครือข่ายฯจึงหวังว่าจะมีกฎระเบียบ และมาตรการทางนโยบายที่ชัดเจน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน และอยากวิงวอนให้ประชาชนที่พบเห็นการทำผิดกฎหมายจราจร และพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้ช่วยกันร้องเรียนและเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ด้วย

ขณะที่ ตัวแทนผู้ของครอบครัวน้องอิงฟ้า กล่าวว่า ตนขอเรียกเหตุการณ์เมาแล้วขับ และทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตว่าเป็นมหันตภัยเมาแล้วขับ ซึ่งน้องอิงฟ้าเป็นเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต และไม่น่าจะเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น และหลังจากเกิดเหตุทางบริษัทประกันภัยของคู่กรณี ก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง โดยพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้เยียวยาและดูแลครอบครัวให้น้อยที่สุด ซึ่งที่จริงแล้ว ควรจะดูแลครอบครัวของผู้เสียหายจากเหตุเมาแล้วขับให้มากกว่านี้ จึงอยากเรียกร้องให้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้กฎหมายลงโทษคนเมาแล้วขับให้รุนแรงขึ้น มีตัวอย่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นในทวีปยุโรป ที่คนเมาแล้วจับมีโทษเทียบเท่ากับข้อหาพยายามฆ่า ที่สามารถแก้ปัญหาเมาแล้วขับได้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้ยังคับใช้ในอนาคตต่อไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน