‘เณรคำ’ ยืนกรานปฏิเสธขอสู้คดี อัยการฟ้อง 2 สำนวนกระทำชำเราเด็ก-ฉ้อโกง ปชช.ฟอกเงิน ศาลอาญา นัดตรวจหลักฐานเช้า 18 ก.ย.นี้ ขณะที่ศาลแพ่งสั่งที่ดินสิ่งปลูกสร้าง-รถหรู 27 รายการกว่า 43 ล้านตกเป็นของแผ่นดิน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 ก.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควบคุมตัว นายวิรพล สุขผล อดีตพระฉายาวิรพล ฉัตติโก หรือเณรคำ อายุ 38 ปี ผู้ต้องหาคดีพรากผู้เยาว์ฯ-กระทำชำเราเด็กไม่เกิน 15 ปี และฟอกเงิน มาส่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อนำตัวฟ้องศาลอาญา ภายหลังจากทางการไทย รับตัวอดีตพระเณรคำจากทางการสหรัฐมาไทยเมื่อค่ำวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งดีเอสไอได้แจ้งข้อกล่าวหากับอดีตพระเณรคำ ผู้ต้องหาและสอบคำให้การเบื้องต้นแล้ว ซึ่งอดีตพระเณรคำให้การปฏิเสธชั้นสอบสวน

โดยการควบคุมตัว “อดีตพระเณรคำ” จากดีเอสไอ ถ.แจ้งวัฒนะ มายังสำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นั้น ได้จัดรถสายตรวจนำขบวนรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ 7 ที่นั่งสีดำ 3 คันของดีเอสไอ เดินทางมายังอัยการ ซึ่งอดีตพระเณรคำนั่งมาในรถฟอร์จูนเนอร์คันแรก โดยอดีตพระเณรสวมเสื้อแขนสั้นและกางเกงขายาวสีขาวคล้ายชุดปฏิบัติธรรม เดินขึ้นไปพบอัยการสำนักงานคดีพิเศษโดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ประมาณ 15-20 นาย ควบคุมตัวอดีตพระเณรคำ มาจากแจ้งวัฒนะ

เมื่ออดีตพระเณรคำ และดีเอสไอมาถึง นายวิรุณฬ ฉันท์ธนันท์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ก็ได้รับตัวผู้ต้องหามาสอบประวัติว่าเป็นบุคคลเดียวกับผู้ต้องหาหรือไม่ พร้อมแจ้งคำสั่งฟ้องคดีอาญา ก่อนที่ดีเอสไอและอัยการควบคุมอดีตพระเณรคำ มายื่นฟ้องต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกพร้อมสำนวน

ขณะเดียวกันที่ห้องประชุม 100 ปี ชั้น 11 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกฯ, นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนันท์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ร่วมกันแถลงข่าวการสั่งฟ้องคดีอดีตพระเณรคำ

ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า อัยการคดีพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ได้ตรวจพยานหลักฐานแสดงตัวบุคคลและคำให้การชั้นสอบสวนผู้ต้องหาแล้ว เชื่อได้ว่าผู้ต้องหานั้นเป็นบุคคลเดียวกับนายวิรพล สุขผล โดยนายวิรุฬห์ ฉันท์ธนันท์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 มีความเห็นสั่งฟ้อง 2 คดี

คดีที่ 1 ฐานความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีฯ และกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีซึ่งไม่ใช่ภริยาตนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ที่อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และมาตรา 317 วรรคสามอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี ซึ่งเป็นการสั่งฟ้องตามความเห็นเดิมที่พนักงานสอบสวนเคยสรุปสำนวนส่งให้อัยการ

แต่ในข้อหาทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และพาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งเป็นข้อหาเล็ก ตาม ม.279, 283 ทวิ นั้นอัยการสั่งยุติดำเนินคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความแล้ว เพราะคดีมีอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำผิด ซึ่งเหตุข้อกล่าวหานั้นเกิดเมื่อปี 2543-2544 คดีจึงขาดอายุความตั้งแต่ปี 2559

คดีที่ 2 อัยการสั่งฟ้องอดีตพระเณรคำ ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมหรือเท็จฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 มาตรา 14 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และข้อหาฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และฐานฟอกเงิน ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ม.5, 60 โทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกัน ซึ่งการยื่นฟ้องสำนวนคดีฉ้อโกงฯนี้ อัยการได้ระบุท้ายฟ้องขอให้ศาลสั่งอดีตพระเณรคำ จำเลย คืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหาย 29 คน รวมเป็นเงิน 28.6 ล้านบาทเศษด้วย

โดยทั้งสองคดีในการยื่นฟ้องต่อศาลนั้น อัยการได้ขอให้ศาลนับโทษทั้ง 2 คดีต่อจากกันด้วยพร้อมคัดค้านการให้ประกันตัวในศาล เนื่องจากเคยมีพฤติการณ์จะหลบหนี จึงเกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวจะหลบหนีอีก

ต่อมาเวลา 10.20 น. อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 นำตัวนายวิรพล อดีตพระเณรคำ มายื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลพาตัวอดีตพระเณรคำ ลงมาควบคุมตัวยังห้องเวรชี้ ชั้น 1 ของศาล เพื่อรอสอบคำให้การคดีทั้ง 2 สำนวน

โดยศาลอาญา ประทับรับคำฟ้องคดีพรากผู้เยาว์ฯ และกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.277 วรรคแรก และม.317 วรรคสาม ไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2340/60 และคดีฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 ม.14 และฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ม.5, 60 รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2341/2560 ซึ่งนายวิรพล อดีตพระเณรคำ จำเลย ให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดีทั้ง 2 สำนวน ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานทั้งสองคดีในวันที่ 18 ก.ย. นี้ เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ เนื่องจากนายวิรพล อดีตพระเณรคำ ยังไม่ได้ยื่นประกันตัว ต่อมาเวลา 13.30 น.เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ด้านนายภาณุ สุขวัลลิ ทนายความของนายวิรพล เปิดเผยว่า ตนเป็นหนึ่งในทีมทนายความของนายวิรพล ซึ่งมีทนายประมาณ 2-3 คน โดยวันนี้จะยังไม่ยื่นขอปล่อยชั่วคราวที่อัยการได้ยื่นฟ้องทั้ง 2 สำนวน ซึ่งทีมทนายความจะรอดูรายละเอียดสำนวนคดีก่อน ประกอบกับอัยการยื่นคัดค้านการปล่อยชั่วคราวด้วย อย่างไรก็ดีตนได้พูดคุยกับนายวิรพลแล้วตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีอาการเครียดหรือวิตกกังวลใดๆ ส่วนทนายความก็เพิ่งได้รับสำนวนคดีมาซึ่งนายวิรพลก็ได้กำชับให้ทีมทนายความพูดคุยกันให้ดีในส่วนรายละเอียด ขณะที่พยานหลักฐานที่จะนำมาใช้ต่อสู้คดีก็จะต้องสอบถามจากนานยวิรพลอีกครั้ง

อย่างไรก็ดีวันเดียวกัน วันที่ 20 ก.ค. ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ฟ.61/2556 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 3 ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินมูลค่า 43 ล้านบาทเศษของนายวิรพล สุขผล กับพวกซึ่งเป็นผู้คัดค้านรวม 8 คน ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ

โดยศาลแพ่ง เห็นว่านายวิรพล และผู้คัดค้านทั้ง 8 คน ไม่สามารถชี้แจงแหล่งที่มาของทรัพย์ได้ ขณะที่นายวิรพล บวชเป็นพระมีรายได้จากประชาชนที่มาทำบุญ ไม่ได้มีรายได้จากแหล่งอื่น จึงเชื่อว่าทรัพย์สิน 27รายการ อาทิ ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง, รถหรูปอร์เช่, รถจักรยานยนต์ และทรัพย์อื่น ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จึงให้ทรัพย์สินทั้ง 27 รายการ มูลค่ากว่า 43 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีแพ่งริบทรัพย์ดังกล่าว เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งนายวิรพล อดีตพระเณรคำและผู้ที่มีชื่อทรัพย์สิน สามารถยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลอุทธรณ์ได้อีกภายใน 30 วัน

ขณะที่คดีอาญาความผิดทางเพศ ที่อัยการคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้องนายวิรพล อดีตพระเณรคำ เป็นคดีดำหมายเลข อ.2340/2560 นั้นได้บรรยายฟ้องสรุปา เมื่อเดือน มกราคม 43-กลางปี 2544 จำเลย ได้พราก ด.ญ.เอ (นามสมมติ) อายุไม่เกิน 15 ปี ไปจากผู้ปกครองโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองจากนั้นจำเลยนำตัวด.ญ.เอ ไปข่มขืนกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่ อันเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ แต่ระหว่างดำเนินคดีนายวิรพลได้หลบหนีไปสหรัฐอเมริกา

ซึ่งโจทก์ได้ขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ศาลชั้นต้นแห่งรัฐบาลกลางรัฐแห่งแคลิฟอร์เนีย มีคำสั่งให้ส่งตัวมาไทย โดยผู้เสียหายดังกล่าวได้เคยยื่นฟ้องจำเลยเองต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษ เป็นคดีหมายเลขดำ 1917/2556 ที่ศาลยกฟ้องเป็นคดีหมายเลขแดง 2820/2557 ข้อหาข่มขืนกระทำชำเราและความผิดต่อเสรีภาพ ซึ่งศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วแต่ผู้เสียหายไม่มาเบิกความต่อศาลคงมีเพียงบุคคลที่อ้างเป็นคนรู้จักข้างบ้าน มาเบิกความเป็นพยานปากเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่รู้เห็นการกระทำผิดของจำเลย

ดังนั้น การฟ้องคดีดังกล่าวจึงมีพฤติการณ์บ่งชี้ว่าเป็นการดำเนินคดีในลักษณะสมยอมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จึงไม่เป็นเหตุให้สิทธิการนำคดีอาญานั้นมาฟ้องต้องระงับไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยคดีนี้ โดยก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยยื่นคำร้องขอสืบพยานไว้ล่วงหน้าแล้ว 2 ปากตั้งปี 2559

ส่วนคดีที่ 2 ฐานฉ้อโกงฯ และฟอกเงิน อัยการคดีพิเศษ 4 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 52 –กลางปี 2556 จำเลยตั้งตัวเป็นประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม ต.ยาง อ.กันทามาตร จ.ศรีสะเกษ แล้วได้อาศัยศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา แสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยได้แสดงอวดอ้างจัดงานพิธีพร้อมประกวดกิจกรรมปฏิบัติศาสนกิจ นิมนต์สงฆ์มาแสดงธรรม ที่สถานที่ต่างๆ เช่น บริษัทดอกบัวคู่ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

และแจ้งข่าวแก่ประชาชนว่าประสงค์จะสร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมมหาวิหารครอบองค์พระแก้ว ซึ่งองค์พระแก้วจะเป็นหยกแท้สีเขียวหนัก 199 ตัน นำเข้าจากประเทศอิตาลี ราคาบริจาคบูชาตันละ 300,000 บาท และยังประกาศสร้างรูปหล่อ ก่อสร้างมหาวิหารสำหรับประชาชนที่ศรัทธาที่เข้ามาปฏิบัติธรรมที่ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี แต่แท้จริงแล้วจำเลยไม่ได้ทำตามที่บอก ซึ่งจำเลยได้ชักชวนประชานให้ร่วมกันบริจาคเงินผ่านเว็บไซด์หลวงปู่เณรคำ หรือ www.luangpu nenkham.com โดยการแจ้งข้อความเท็จนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเหตุประชาชน 29 คน หลงเชื่อบริจาคเงิน 28,649,553 บาท ด้วยเช็ค เงินสด เข้าบัญชีที่จำเลยกำหนด อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน

ด้านรายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงกรณีการควบคุมตัวและสอบปากคำนายวิรพล เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า หลังจากที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ควบคุมตัวนายวิรพลจากสนามบินสุวรรณภูมิ มาสอบปากคำที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ควบคุมตัวนายวิรพลขึ้นไปยังห้องประชุม 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งถูกจัดเตรียมไว้เป็นห้องที่ใช้ในการสอบปากคำและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทั้งหมด

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า โดยก่อนที่กระบวนการสอบสวนปากคำนายวิรพลจะเริ่มขึ้น พนักงานสอบสวนนำตัวนายวิรพลไปควบคุมไว้ภายในห้องที่ถูกจัดเตรียมไว้ดังกล่าว และปล่อยให้นายวิรพลได้พักผ่อนสักครู่ เพื่อให้นายวิรพลเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และก่อนที่จะเริ่มทำการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้ให้แพทย์จากโรงพยาบาลชลประทานเข้าทำการตรวจร่างกาย

ซึ่งผลการตรวจร่างกายของนายวิรพลมีอาการปกติ แต่มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากการเดินทาง จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ดำเนินการแจ้งแสดงคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษให้นายวิรพลได้รับทราบ เพื่อสละสมณเพศ ซึ่งหลังจากที่เจ้าหน้าที่ พศ. แจ้งคำสั่งเสร็จแล้ว นายวิรพลก็กล่าวยอมรับคำสั่งของเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษและยอมปลดผ้าห่มจีวรด้วยตัวเอง

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาให้นายวิรพลทราบรวม 6 ข้อกล่าวหา คือ 1.ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2.ฉ้อโกงประชาชน 3.ฟอกเงิน 4.กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 5.กระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 และ 6.ปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยนายวิรพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การทั้งหมดในชั้นศาลเท่านั้น

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ขอนายวิรพลตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอเปรียบเทียบกับผู้เสียหาย เพื่อพิสูจน์ความผิดเกี่ยวกับเพศ แต่นายวิรพลไม่ยอมให้ตรวจ ซึ่งก็ไม่เป็นอะไร เพราะกรณีดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของเจ้าตัวด้วย โดยพนักงานสอบสวนก็ได้จดบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า นายวิรพลไม่อนุญาตให้ตรวจดีเอ็นเอ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการแจ้งข้อกล่าวหานั้น พนักงานสอบสวนได้แยกสำนวนเป็น 2 สำนวน คือ สำนวนคดีที่เกี่ยวกับเพศ และสำนวนคดีเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอม ฟอกเงิน และฉ้อโกงประชาชน เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาเกิดความสับสน โดยการแจ้งข้อกล่าวหานั้น เหมือนเป็นการบรรยายพฤติกรรมการกระทำความผิดของผู้ต้องหาให้ได้รับทราบ ส่วนผู้ต้องหาจะให้การอย่างไรนั้น ก็เป็นสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งการสอบปากคำนั้น พนักงานสอบสวนได้จัดเตรียมทนายความอาสาไว้ให้ด้วย แต่นายวิรพลได้ประสานขอทนายความส่วนตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการให้

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ส่วนกรณีที่นายวิรพลเดินทางหลบหนีออกไปนอกประเทศนั้น กรณีดังกล่าว นายวิรพลระบุว่า ได้เดินทางออกนอกประเทศไปก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายจับ เพราะได้รับกิจนิมนต์จากต่างประเทศ และเมื่อทราบข่าวว่าถูกออกหมายจับก็ยังเกิดความรู้สึกทำใจ และยังตั้งหลักไม่ได้ จึงไม่ได้เดินทางกลับมายังประเทศอีกเลย ส่วนกรณีที่มีใครเป็นผู้คอยให้การช่วยเหลือระหว่างหลบหนีออกไปยังนอกประเทศนั้น ไม่ได้มีการให้การกับเจ้าหน้าที่ โดยขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น ส่วนเหตุผลที่นายวิรพลยอมเดินทางกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากทำใจได้แล้ว และพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับการสอบสวนปากคำนายวิรพลนั้น ทุกขั้นตอนไม่ได้มีการเร่งรัดอะไร อีกทั้ง ก็ได้มีการหยุดพักระหว่างที่ทำการสอบปากคำด้วย เพราะเกรงว่าผู้ต้องหาจะเกิดอาการเครียด กระทั่งเวลาประมาณ 04.00 น. พนักงานสอบสวนจึงทำการสอบสวนปากคำแล้วเสร็จ และได้ปล่อยให้นายวิรพลไปทำการอาบน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้จัดเตรียมอุปกรณ์อาบน้ำทุกอย่างไว้ให้ ก่อนจะลงมากินข้าวเช้า เมื่อเสร็จสิ้นทุกอย่างแล้ว พนักงานสอบสวนจึงควบคุมตัวนายวิรพลส่งพนักงานอัยการเพื่อส่งศาลฝากขัง

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน