เมื่อเวลา 09.00น. วันที่ 31 ส.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เดินทางมารับฟังคำสั่งศาลฎีกาคดีคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อายุ 53 ปีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 67 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84

สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย.-19 พ.ค. 2553 กระทั่งนายพันคำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ทลิงค์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.2553 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

วันนี้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพเดินพร้อมด้วยทีมทนายความและผู้ติดตามเดินทางมาศาล

โดยนายสุเทพ กล่าวก่อนเข้าฟังคำสั่งว่า คดีนี้ตนกับนายอภิสิทธิ์ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ซึ่งเป็นข้อหาที่ค่อนข้างจะแปลก เนื่องมาจากกรณีที่เกิดเหตุจลาจลก่อการร้ายเมื่อปี 2553 ตนและนายอภิสิทธิ์มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในขณะนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จเรียบร้อย แต่เมื่อมีผู้เสียชีวิตก็ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้ามิชอบ จึงมีการฟ้องมาที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ไม่รับฟ้อง อัยการจึงยื่นฎีกาต่อ ก็อยู่ที่ศาลฎีกาว่าจะวินิจฉัยอย่างไร

“ผมเรียนว่าท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามภาระรับผิดชอบ โดยถูกต้องตามกฎหมาย จริงๆ ท่านนายกฯอภิสิทธิ์ต้องมาเป็นจำเลยด้วยเหตุใดไม่ทราบ โดยกฎหมายทั้งหมดผมเป็นผู้รับผิดชอบ นายกฯ เป็นผู้สั่งการ ผมเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหานี้” นายสุเทพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีสลายการชุมนุมนี้มีการฟ้องเป็นคดีอื่นและข้อหาอื่นด้วยหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า คดีสลายการชุมนุมปี 2552-2553 ขณะนี้ยังมีอยู่แค่นี้ แต่เหตุการณ์ในปี 2556-2557 มีเยอะ อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฟ้องตนและประชาชนอีก 38 คน กล่าวหาว่าขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเสียหาย โดยเรียกค่าเสียหาย 3,100 ล้านบาทเศษ ซึ่งตนจะต้องไปยื่นแก้คดีภายใน 30 วัน

เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่ม นปช.เรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาฟ้องใหม่ โดยใช้ตัวอย่างคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นบรรทัดฐาน นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่แปลกใจอะไร กลุ่มนี้เขาตั้งหน้าตั้งตาจะเล่นงานพวกตนอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ทวิตเตอร์พาดพิงกระบวนการยุติธรรม นายสุเทพ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับคำที่คอลัมส์นิสท่านหนึ่งบอกว่า ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่ารัฐบาลที่อ้างประชาชน แล้วใช้อำนาจหน้าที่ทำร้ายประเทศชาติและประชาชน

และถามถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หนีคดี นายสุเทพ กล่าวสั้นๆ ว่า “หาให้เจอก่อน”

คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า แม้อัยการโจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อำนวยการ ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ

ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ และให้ยกคำร้องที่นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่บาดเจ็บ กับนางหนูชิต คำกอง ภรรยาของนายพัน ที่เสียชีวิตขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย

ต่อมาอัยการโจทก์, นายสมร กับนางหนู ผู้เสียหาย มอบอำนาจให้นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความยื่นอุทธรณ์

ต่อมา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัวตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสอบสวนเพื่อเอาโทษแก่จำเลยทั้งสองจึงเป็นอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ศาลอาญาจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจรับคดีทั้งสองสำนวนไว้พิจารณา อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ส่วนนายสมร และนางหนูชิต ที่ร้องขอเป็นโจทก์ร่วมนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นก็ชอบแล้ว

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มีบุคคลถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว ที่จำเลยที่ 1 ได้ให้ ศอฉ. ดำเนินการควบคุมให้มีการกำหนดแนวห้ามผ่าน และให้ใช้อาวุธปืนเท่าที่จำเป็น จำเลยที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. มีการให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงและพลแม่นปืน การออกคำสั่งขอให้สลายการชุมนุมเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตและได้รับอันตราย

ซึ่งแสดงว่าตามคำฟ้องโจทก์ได้อ้างการออกคำสั่งดังกล่าวในขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการกล่าวหาผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 250 (2), 275 ที่ให้ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปผลพร้อมทั้งความเห็นการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (2), 66 วรรคหนึ่ง, 70 เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1), 10, 11, 24 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557

เมื่อจะต้องดำเนินกระบวนการตามกฎหมายที่วินิจฉัยแล้ว การที่ดีเอสไอได้สอบสวนแล้วสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลอาญานั้น ไม่เป็นไปตามกระบวนการและช่องทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ขณะที่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย และมีคำสั่งตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24, 142 และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามทั้งสองศาลที่ให้ยกฟ้อง เนื่องจากคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแล้ว คดีจึงถึงที่สุด

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายอภิสิทธิ์ได้ตอบคำถามสื่อเพียงสั้นๆ ว่า คดีในศาลนี้ถือว่าจบแล้ว

ส่วนที่กรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เมื่อเร็วๆ นี้ ให้นำเรื่องการสลายผู้ชุมนุม นปช. ขึ้นมาพิจารณาใหม่นั้น นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวเพียงว่า เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ส่วนตนยังไม่ได้รับแจ้งอะไรจาก ป.ป.ช.

ขณะที่นายสุเทพ ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำสั่งศาลฎีกาว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ได้วินิจฉัยไปแล้ว ส่วนศาลก็ได้วินิจฉัยตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา

ส่วนถ้า ป.ป.ช.จะพิจารณาคดีนี้อีกครั้งตามขั้นตอนที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไว้จะดำเนินการอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า ตนก็พร้อมที่จะต่อสู้คดี ได้เตรียมหลักฐานไว้ตั้งแต่ตอนบวชเป็นพระแล้ว โดยเขียนเนื้อหารวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่ในหนังสือที่ได้ยื่นไว้กับ ป.ป.ช. ขณะนั้นตนก็โดน ป.ป.ช.สอบสวนนานมาก และทำเป็นหนังสือไว้จำหน่ายในชื่อ “คำให้การพระสุเทพ ปภากโร” เพื่อเอาทุนมาตั้งมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และเมื่อ ป.ป.ช.วินิจฉัยแล้วเห็นว่าตนทำตามหน้าที่ก็จบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความมั่นใจหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวก ในการสลายการชุมนุมเช่นเดียวกัน นายสุเทพ กล่าวว่า เหตุการณ์แตกต่างกัน คือ 1.ตอนที่ตนมีคำสั่งต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเรียกว่าอยู่ในกรอบของกฎหมาย

2.การสั่งการในแต่ละขั้นตอนได้มีคณะกรรมการร่วมพิจารณาว่ามีความจำเป็นเพื่อจะแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติบ้านเมืองมีความสงบ และได้หลีกเลี่ยงวิธีที่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน อย่างการใช้แก๊สน้ำตาตนมีคำสั่งไม่ให้ใช้ประเภทยิง ให้ใช้แบบขว้าง เพราะถ้าใช้แบบยิงจะถูกประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ แต่กรณีที่ต้องสั่งให้มีการใช้อาวุธจริงนั้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนเสียชีวิตแล้วบนถนนราชดำเนิน จำเป็นที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธจริงได้ เพื่อระงับยับยั้งฝ่ายที่จะทำร้ายประเทศชาติ ทำร้ายประชาชนและทำร้ายเจ้าหน้าที่

เมื่อถามถึงคดีในส่วนการชุมนุมของ กปปส. อยู่ในกระบวนการขั้นตอนไหนแล้ว นายสุเทพ กล่าวว่า ตอนนั้น คสช. ยึดอำนาจ พวกตนก็ถูกนำตัวไปอยู่ค่ายทหาร พอออกมาก็ได้โอกาสเข้าไปมอบตัวเพื่อสู้คดีที่สำนักงานอัยการสูงสุด ต่อมานายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องแกนนำ กปปส.ทั้งหมด ต่อมาพนักงานอัยการจึงสั่งให้ดีเอสไอทำการสอบสวนเพิ่มเติม ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนยังไม่เสร็จ

เมื่อถามว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายปีแล้ว แต่คดียังไม่เสร็จสิ้น นายสุเทพ กล่าวว่า ให้ทำใจเป็นกลาง อย่างเพิ่งพูดว่าหลายปี เพราะคดีแบบนี้ก็ต้องใช้เวลาหลายปีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร คดีแต่ละคดีก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม จำเลยทุกคนมีสิทธิที่จะต่อสู้คดี นอกจากนี้คดีอื่นๆ ก็ใช้เวลาต่อสู้นานเหมือนกัน สำหรับแกนนำ กปปส.ส่วนหนึ่งนั้นอัยการก็ได้ยื่นฟ้องไปแล้ว อยู่ระหว่างการสู้คดีในชั้นศาล ตอนนี้ยังสืบพยานโจทก์ไม่หมด เมื่อถึงกำหนดสืบพยานจำเลย ตนก็จะไปเบิกความเป็นพยาน

เมื่อถามว่า อัยการสูงสุดมีหนังสือกำชับให้สอบพยานเพิ่มเติมให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ใช่หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า เวลาจะสอบสวนแกนนำ กปปส.เพิ่มเติม ทางพนักงานสอบสวนดีเอสไอก็จะเรียกไปถาม แต่ในส่วนของจำเลยยืนยันยังไม่ได้รับหนังสือ และอัยการคงจะกำชับพนักงานสอบสวนมากกว่า

นอกจากนี้นายสุเทพ ยังกล่าวถึง กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นทวิตเตอร์ว่าไม่มีความเลวร้ายใดที่ยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรมตัวเองกลับเห็นว่าไม่มีอะไรเลวร้ายกว่ารัฐบาลที่อ้างประชาชนและใช้อำนาจหน้าที่ทำร้ายประเทศชาติและประชาชน และปฏิเสธตอบคำถามกรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มาฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว โดยระบุเพียงว่า ให้ไปหาตัวให้ได้ก่อน

ด้าน นาย โชคชัย อ่างแก้ว ทนายโจทก์ร่วม กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ตามคำสินิจฉัยของศาลฎีกาเห็นว่า นายอภิสิทธิและนายสุเทพ เป็นนักการเมืองซึ่งจะต้องฟ้องศาลฎีกาฯนักการเมืองและศาลอาญาไม่มีอำนาจรับฟ้อง คดีที่ตนเคยฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 ซึ่งเป็นลักษณะการกระทำความผิดแบบเดียวกันที่ศาลอนุญาตโอนคดีมายังศาลอาญาและศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวซึ่งตนก็คงไม่ขอดำเนินการต่อเพราะ ศาลก็คงจะมีคำสั่งในลักษณะเดียวกัน

ส่วนในเรื่องการดำเนินการต่อไปตนยังเห็นว่าผู้ที่กระทำผิดทำให้เกิดการตาย ทั้งผู้สั่งการ ผู้ปฎิบัติและผู้ควบคุมการปฎิบัติ ซึ่ง ป.ป.ช.เคยไม่ชี้มูล นายสุเทพ อภิสิทธิ์ ไว้เช่นกัน แต่ก็ได้วินิจฉัยว่าถ้าผู้ใดไปกระทำการเกินเลยหรือกระทำผิดก็เป็นเรื่องของบุคคล ฉะนั้น แนวทางแรกเราจะไปดำเนินการกับผู้กระทำผิดเหล่านั้น ต่อไป ซึ่งการสลายการชุมนุมปี 53 มีการตายเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ และหลายพื้นที่ จะต้องไปดูรายละเอียด ดีเอสไอจะต้องไปดูรายละเอียดแต่ละเหตุการณ์ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละศพซึ่งเป็นต่างกรรมต่างวาระ โดยตนจะติดตามดีเอสไอว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งตนเองยังมองไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องและอยู่ใน ศอฉ. ที่ดีเอสไอจะต้องสอบสวนต่อไป

ซึ่งที่ผ่านมาในชั้น ป.ป.ช.เราก็มีการร้องว่าจะให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ แต่ก็จะต้องดูว่าเป็นไปได้แค่ไหน เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช.จะไต่สวนเฉพาะเรื่องของการปฎิบัติหน้าที่มิชอบ ยังไม่ได้ไต่สวนเรื่องของข้อหาคดีในเรื่องของการฆ่าเลย เรื่องนี้ตนจะต้องดูรายละเอียดอีกทีและอาจจะยื่นให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเกี่ยวกับเรื่องการฆ่าประกอบไปด้วย เพราะศาลฎีกาเองก็เขียนไว้ชัดว่าความผิดที่เกี่ยวข้องเป็นความผิดที่ ป.ป.ช.จะต้องไต่สวน ซึ่งเราจะอ้างคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า ป.ป.ช.จะจำเป็นต้องไต่สวน เรายังไม่หยุดเราจะต้องไต่สวนให้ได้ตัวผู้กระทำความผิด

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน