ช่วงม็อบพบโพสต์ผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 322,990 ข้อความ ก.ดีอีเอสจ่อฟันคนโพสต์-สื่อ-แกนนำ-นักการเมือง หากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์ม ไม่ปิดกั้นภายใน 15 วัน จะดำเนินการแจ้งความ

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.63 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงฯ กล่าวแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า

ตั้งแต่ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการการเฝ้าระวังมาตั้งแต่วันที่ 13-18 ต.ค.2563 ได้ตรวจสอบผลข้อความที่ไม่เหมาะสมจำนวนกว่าล้านข้อความ เมื่อทำการตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม 322,990 เรื่อง จากข้อความที่ตรวจพบล่าสุด 1.6 ล้านข้อความ แบ่งเป็น ทวิตเตอร์ 75,076 เรื่อง เฟซบุ๊ก 245,678 เรื่อง และเว็บบอร์ด 4,236 เรื่อง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

โดยศูนย์ฯ จะเน้นการดำเนินการกับผู้นำขึ้นข้อความบนสื่อออนไลน์คนแรก หรือผู้โพสต์คนแรกก่อนจำนวนหนึ่ง ซึ่งพบว่ามีทั้งเป็นแกนนำกลุ่มมวลชน นักการเมืองและผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย อาทิ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Pavinchachavalpongpun และทวิตเตอร์ที่พบว่าเป็นของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ,เพจเฟซบุ๊กของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล , นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำมวลชน รวมถึงสื่อและการรายงานสถานการณ์ทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Voice TV และเพจเยาวชนปลดแอก Free Youth ทั้งหมดเข้าข่ายผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ส่วนก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำสั่งให้ปิดกั้น เพจ Royalist Market Place (ตลาดหลวง) ไปแล้ว 2 ครั้ง และหากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือแพลตฟอร์ม ไม่ทำการปิดกั้นภายใน 15 วัน กระทรวงฯ จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้เอาผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตามฝากเตือนประชาชน ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะโพสต์ข้อความ และภาพในสถานการณ์ใดๆ ต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดต่อกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ได้ติดตามและมอนิเตอร์ ความเคลื่อนไหว การใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงผู้ที่ทำการแชร์ข้อมูลรีทวิต ที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการเอาผิดทางคดีตามขั้นตอนของกฎหมายทันที และหากพบว่ามีเพจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวและบุคคลมีชื่อเสียง อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

“นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส กำชับและมีความห่วงใย ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ทยอยส่งหลักฐานที่เก็บรวบรวมได้ ส่งให้ทางกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงขออำนาจศาล ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจังเด็ดขาด”

ทั้งนี้เป็นการดำเนินการตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป

โดยข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อ 2 ระบุไว้ว่า “ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร

ขณะที่ ในส่วนบทบาทของกระทรวงฯ ที่ผ่านมาก็มุ่งแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลหรือนำเข้าข้อมูลผิดกฎหมายสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่เกี่ยวข้องกับสถานการ์ช่วงนี้ คือ มาตรา 14 (2), 14 (3) และมาตรา 27

ทั้งนี้ มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี
หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

และ (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

เมื่อกระทรวงฯ มีคำสั่งศาลถึงผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตแล้ว ยังไม่ดำเนินการนำข้อมูลที่ผิดกฎหมายออก มาตรา 27 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

นายภุชพงค์ กล่าวว่า ล่าสุดนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส ได้มอบหมายให้ตน พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ทยอยส่งหลักฐานที่เก็บรวบรวมได้ทั้งหมด ส่งให้กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) และตำรวจ รวมถึงขออำนาจศาล ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจังเด็ดขาด

นายภุชพงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับสื่อทีวี ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเป็นผู้กำกับดูแล และเข้าใจว่าทางกสทช.เป็นคณะกรรมการร่วมเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงดีอีเอส ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับสั่งการจากกอร.ฉ. เช่นกัน เพราะฉะนั้นสื่อทีวีที่ไลฟ์สด หรือเผยแพร่เนื่อหาที่ผิดกฎหมาย ทางกสทช.จะเป็นผู้กำกับและติดตาม แต่สื่อต่างๆ ที่ไลฟ์สดผ่านอินเตอร์เน็ตทางกระทรวงดีเอสอีจะอาศัยอำนาจหน้าที่ความผิดทางพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ รวมถึงพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563 เป็นต้นมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน