ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. พิจารณาเห็นชอบให้พื้นที่นำร่อง เปิดรายชื่อ 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นท้องที่ที่ให้เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด

วันที่ 15 พ.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะกรรมการและเลขานุการฯ เข้าร่วมประชุม

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญคือ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้รายงานถึง ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของรัฐสภา การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อมซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก

โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่มีหลักการสำคัญคือการถอดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อยู่ระหว่างเสนอบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. ที่มีหลักการสำคัญคือการกำหนดมาตรการควบคุมพืชกระท่อมเพื่อป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อม และป้องกันไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังรายงานความคืบหน้าร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเสพและการครอบครองพืชกระท่อม ในท้องที่ที่ประกาศให้เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด พ.ศ. …ซึ่งกำหนดให้เสพได้ตามวิถีชาวบ้าน และผู้เสพจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน ป.ป.ส. ก่อน โดยร่างฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามในหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในหลักการต่อไป

นอกจากนี้ ได้มีวาระพิจารณาที่สำคัญคือ พิจารณาเห็นชอบให้พื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นท้องที่ที่ให้เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 58/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 หลังจากที่สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการเตรียมการรองรับเป็นที่พื้นที่นำร่องครบทุกขั้นตอนแล้ว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อวาระพิจารณาดังกล่าว และมอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนลงนามในประกาศต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาการกำหนดท่าทีของประเทศไทยในการลงคะแนนเสียงรับหรือไม่รับข้อเสนอ 6 ข้อขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการควบคุมกัญชาและสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และทางการวิจัย มากยิ่งขึ้น ได้แก่

1.)ถอดกัญชาและยางกัญชาออกจากตารางที่ 4 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 แต่ไปควบคุมอยู่ในตารางที่1 ของอนุสัญญา ฯดังกล่าวแทน 2.)เพิ่มสารสังเคราะห์กัญชาโดรนาบิบอล (Dronabinol) และสเตอริโอไอโซเมอร์ (Stereoisomers) ทั้งหมดของโดรนาบินอลให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 และถอดออกจากตารางที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971

3.)เพิ่มสารสกัดกัญชา THC หรือสารที่เป็นไอโซเมอร์กับโดรนาบินอล (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Delta-9-THC) ให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 และถอดออกจากตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1971 4.)ถอดคำว่า “สารสกัดและทิงเจอร์ของกัญชา” (Extracts and Tinctures of Cannabis) ออกจากตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961

5.)เพิ่มคำอธิบายในเชิงอรรถภายใต้ตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 ว่าวัตถุตำรับหรือยาเตรียม (Preparation) ที่มี Cannabidiol (CBD) เป็นส่วนประกอบหลักหรือเรียกรวมว่า CBD Preparation ซึ่งมีความเข้มข้นของ Delta-9-THC ไม่เกิน 0.2% จะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961

6.)เพิ่มตำรับยากัญชาและโดรนาบินอล (Pharmaceutical preparations of Cannabis and Dronabinol) ให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 3 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961

โดยประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง ต่อข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมสมัยต่อเนื่องของคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 63 ระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค. 63 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและประเทศสมาชิกต่างๆ ตีความข้อเสนอของ WHO แตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงาน อย. และกระทรวงการต่างประเทศ ต่อการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว โดยสำนักงาน อย. เสนอว่าประเทศไทยควรลงคะแนนรับข้อเสนอ 4 ข้อด้วยกัน คือ ข้อ 1, 2, 3 และ 5 และไม่รับข้อเสนอในข้อ 4 และ 6 เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบาย และกฎหมายภายในของประเทศไทยในเรื่องนี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอการลงคะแนนดังกล่าว และมอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศของไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา เป็นผู้แทนทางการไทยในการลงคะเเนน ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ 135 หมู่บ้าน/ชุมชน ประกอบด้วย 10 จังหวัด 10 อำเภอ 19 ตำบล 1 เทศบาล 110 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ภาคกลางประกอบด้วย บ้านคลองหนึ่ง ม.10 จ.นนทบุรี ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และ ม.12 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ภาคใต้ ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน ใน ต.คลองเส อ.ถ้ำพรรณราย จ.นครศรีธรรมราช, 9 หมู่บ้านใน ต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ , 7 หมู่บ้านใน ต.ลำภี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา, 65 หมู่บ้านใน 10 ตำบล อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี, 5 หมู่บ้านใน ต.ละอุ่นเหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง, บ้านดอนไทรงาม ต.บางหมาก อ.เมือง จ.ชุมพร, 4 หมู่บ้านใน ต.เตา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง, 9 หมู่บ้านใน จ.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน