ศบค.-สธ. ชง “บิ๊กตู่” ลงนามประกาศฉบับ 16 กำหนดเข้มมาตรการคุมโควิดพื้นที่สีแดง เริ่ม 4 ม.ค.- 1 ก.พ. กำหนดเปิด-ปิดสถานประกอบการ-ปิดสถานที่บางแห่ง

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 2 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (ศบค.) แถลงผลการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ (ศปก.ศบค.) และ การประชุมของ ศปก.สาธารณสุข ว่า

ข้อสรุปจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าการคัดกรองแรงงานต่างด้าวมีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการระบาดรอบใหม่ที่น่าจับตาคือกลุ่มในกทม.ซึ่งเริ่มกระจายในหลายพื้นที่ และมีผู้เสียชีวิตโดยไม่สามารถหาความเชื่อมโยงจากศูนย์กลางการระบาดได้ ทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าจะมีการแพร่กระจายโรคเพิ่มอีกหลายเท่าตัวและกระจายไปยังทุกจังหวัด จึงต้องมีมาตรการควบคุมโรค และมาตรการทางสังคมที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพเพียงพอ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เดิมมาตรการที่กำหนดออกมาจะยึดหลักจากเบาไปหาหนัก โดยมีข้อแม้อยู่ที่การระบาดไม่มาก อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ มีทรัพยากรและบุคลากรเพียงพอ มีความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งศบค.ได้วิเคราะห์ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และกระจายไปตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นและมีรูปแบบแพร่ระบาดที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ติดเชื้อหลายคนทราบว่าเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงและร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ไม่ยอมกักตัวเอง ยังสัมผัสกับผู้อื่น หรือไม่เข้าไปพบแพทย์ และยังมีกิจกรรมลักลอบมั่วสุมผิดกฎหมายโดยเฉพาะการพนันเกิดขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด

นอกจากนั้นยังมีการมั่วสุมแบบเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งด้วย ส่งผลจำนวนผู้ติดเชื้อและมีอาการที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลมีจำนวนมากขึ้น จนขีดความสามารถทางด้านการแพทย์และความสาธารณสุขบุคลากรและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ลดลงจำนวนมาก

จึงต้องมีการทบทวนมาตรการป้องกันโควิด-19 ถึงแม้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มีความรับรู้ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 และให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างดี แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่ยังขาดความระมัดระวังในมาตรการที่ขอความร่วมมือจึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการการดำเนินมาตรการป้องกันโรค โควิด-19 เป็นภาพรวม

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การหารือในที่ของกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น โดยจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดงต้องเข้มข้นในการดูแล ส่วนจังหวัดพื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่สีส้ม จะต้องเข้มข้นรวมทั้งแนวชายแดน โดยที่ประชุมทั้ง ศปก.ศบค.และ สธ.มีความเห็นตรงกัน เสนอความเห็นภาพรวมสถานการณ์ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.

เพื่อลงนามกำหนดมาตรการขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีความเข้มข้นสูงขึ้น โดยกำหนดพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด ได้แก่ ตาก นนทบุรี ปทุมธานีพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรีประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงครามสมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง และ กทม.

พื้นที่ควบคุมเป็นพื้นที่สีส้ม 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์อุทัยธานี ชัยนาท เพชรบูรณ์ ชัยภูมิบุรีรัมย์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และ พังงา ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 38 จังหวัด ขอให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดหรือพื้นที่สีเหลืองทั้งหมด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการใช้ยาแรงเกือบ 3 เดือน จนเอาอยู่ และการระบาดในครั้งนี้ต้องมีพื้นที่ที่เสียสละคือพื้นที่สีแดง ที่ต้องเข้มงวดควบคุมสูงสุด ซึ่งเราไม่อยากใช้คำว่าล็อกดาวน์ แต่จะใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการและประสานสอดคล้อง โดยจะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาเพื่อลงนามเห็นชอบประกาศคำสั่งฉบับที่ 16 ออกเป็นข้อกำหนด โดยแบ่งเป็น 2 ขั้น คือ

ขั้นที่ 1 จะนำประกาศฉบับที่ 5,6 ของเดือน มิ.ย. 2563 ที่มีการผ่อนคลายมาตรการทุกภาคส่วนดำเนินการมาตรการป้องกัน โควิด-19 ในส่วนที่ ศบค.กำหนด อย่างบูรณาการและประสานสอดคล้อง โดยแบ่งออกเป็นสองขั้น คือ จำกัดเวลาเปิด ปิดสถานประกอบการ

ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด,ค้นหาและจับกลุ่มกลุ่มบุคคลที่ทำผิดกฎหมายหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก

ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด, สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์,ให้ทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม ทั่วทั้งพื้นที่ที่ศบค.กำหนด, มีมาตรการควบคุมการเดินทางของบุคคลจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด, เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและสอบสวนโรคที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้ข้อมูลจากการสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดใช้ในวันที่ 4 ม.ค. ตั้งแต่เวลา 06:00 น. – 1 ก.พ.

ขั้นที่ 2 หากสถานการณ์ยังไม่ดี ไม่ได้รับความร่วมมือ มีการติดเชื้อสูงขึ้นและทรัพยากรไม่เพียงพอ จะจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น (รวมทั้งจำกัดการเปิดกิจการ บางประเภทด้วย), ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพิ่มความเข้มข้นในการเร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย

งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก, เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด, สถานศึกษายังคงหยุดการเรียน การสอนเว้นกิจกรรมที่มีความจำเป็น, เร่งรัดและเพิ่มการทางานแบบเวิร์กฟรอมโฮมอย่างเต็มขีดความสามารถ

เร่งรัดการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่เสี่ยง, กิจกรรม กิจการที่เสี่ยง,กลุ่มบุคคลที่เสี่ยง, จำกัดเวลาออกนอกเคหะสถาน ในพื้นที่ที่ศปก.จังหวัด กำหนด โดยเวลาดำเนินการเป็นไปตามที่นผอ.ศบค. เห็นชอบ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการฯในกรอบเงื่อนไข ที่ ศบค.กำหนด

ทั้งนี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า มาตรการควบคุมยังไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้แต่จะให้มีช่วงเวลาเพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เตรียมตัว โดยจะเริ่มในวันที่ 4 ม.ค.คือวันเปิดทำการ ขออย่ากังวลหรือมีการไปกักตุนสินค้า

ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใด จึงไม่มีการล็อกดาวน์เพราะคำว่าขอความร่วมมืออาจใช้ไม่ได้ผล ขณะที่บางคนไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เลขาฯ สมช.ระบุว่า แม้จะล็อกดาวน์แบบมีเคอร์ฟิว ก็ยังพบว่ามีรายงานของการฝ่าฝืน ลักลอบเล่นการพนัน ออกมานอกเคหสถานโดยไม่มีธุระ ดังนั้นการมียาแรงออกมามากก็ไม่สามารถจัดการกับคนที่ส่อเจตนาที่จะกระทำไม่ถูกต้องได้

แต่คนที่เดือดร้อนคือบุคคลที่ประกอบสัมมาอาชีพ ใช้ชีวิตตามปกติที่เกิดความลำบาก จึงขอความร่วมมือให้สูงสุด เพราะการใช้กฎหมายอาจไม่ได้ 100 % ขณะที่เศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบอีก ดังนั้นถ้าพบว่าเจ็บใครตรงไหนก็ใช้ยาแรงฉีดตรงนั้นก่อน

เมื่อถามว่าการขอความร่วมมือแต่ละจังหวัดออกมาตรการปิด เปิดสถานประกอบการต่างๆ แต่เกิดความสับสนในกทม.กรณีปิดสปาหรืออาบน้ำของคน แต่ในส่วนของสัตว์เลี้ยงสามารถทำได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กทม.มีความรวดเร็วในการแจ้งประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวทั้งหมด 25 สถานที่

ส่วนสถานที่ควบคุมป้องกันแพร่ระบาด 19 สถานที่ ซึ่งในจำนวนนี้มีสถานที่ให้บริการดูแลรักษา อาบน้ำสัตว์ยังสามารถเปิดได้ หากอ่านให้ดีจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันกับสถานที่ที่สั่งปิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน