ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) (ฉบับที่ ๒)

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 8 ม.ค.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) (ฉบับที่ ๒) มีใจความว่า

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๕) ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนดเขตพื้นที่การห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด- 19) ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๖) นั้น อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๕) ข้อ ๓ (ฉบับที่ ๑๖) ข้อ ๒ และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ ๓ (๖) และคำสั่ง ประกาศ ที่เกี่ยวข้อง จึงให้ปฏิบัติดังนี้

๑. ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
๒. ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใดๆทั่วราชอาณาจักร
๓. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศ หรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เว้นแต่การทำกิจกรรมโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ
๔. การชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ซึ่งมีประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวังให้ผู้จัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมดังกล่าว ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการ โดยแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรค ประกอบการพิจารณา เว้นแต่การทำกิจกรรมของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย หรือการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถาน

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง

อ่านรายละเอียด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน