การบินไทย ถอย ยอมคงสภาพการจ้างเดิม กรณีพนักงานไม่สมัครคัดเลือกเข้าทำงานใหม่ ตามนโยบายปรับโครงสร้าง หลังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้ขาดให้คงสภาพการจ้างเดิม แม้ว่าจะพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงจนบริษัทฯ สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ บริษัทฯ จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายๆ ด้าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และการบริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

ในส่วนของการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น บริษัทฯ ใช้วิธีขอความร่วมมือจากพนักงานให้ความยินยอมเปลี่ยนสภาพการจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยขอให้พนักงานพิจารณาให้ความช่วยเหลือบริษัทฯ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสามารถทำได้สำเร็จเพื่อที่การบินไทยจะได้กลับมาเป็นองค์กรที่แข่งขันได้และสามารถสร้างความภูมิใจแก่ประเทศไทยได้ในฐานะที่เป็นสายการบินแห่งชาติที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

พนักงานที่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 ยังคงเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ อยู่โดยไม่ต้องลาออกจากการเป็นพนักงานก่อนแสดงความจำนง ซึ่งการแสดงความจำนงเป็นเพียงการให้ความยินยอมในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง อาทิ ตำแหน่งงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ ที่จะได้รับตามโครงสร้างองค์กรและสิทธิประโยชน์ใหม่เท่านั้น

หากพนักงานที่แสดงความจำนงได้รับการกลั่นกรองเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ อายุงานของพนักงานจะนับต่อเนื่อง รวมถึงการนับอายุงานตามกองทุนบำเหน็จและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็นับอายุงานต่อเนื่องด้วย ส่วนสภาพการจ้างจะเปลี่ยนแปลงไปโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

สำหรับพนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้ากระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 และไม่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร จะยังคงเป็นพนักงานของบริษัทฯ ภายใต้สภาพการจ้างเดิมต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการและพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุม ภายใต้กรอบกฏหมายล้มละลาย และกฏหมายคุ้มครองแรงงาน โดยคำนึงถึงสถานการณ์ของบริษัทฯ และความเป็นธรรมต่อพนักงานอย่างที่สุด และบริษัทฯ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานให้ความยินยอมเปลี่ยนสภาพการจ้างดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 64 นายวรรณรัตน์ ศรีสุกใส รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ส่งหนังสือถึงประธานสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ เรื่อง การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน

โดยแจ้งให้สหภาพฯ รับทราบโดย อ้างถึง หนังสือสหภาพแรงงานฯ ที่ สร.กบท.สพ. 003/2564 ลงวันที่ 1มีนาคม 2564ตามหนังสือที่อ้างถึง สหภาพแรงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์แจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงานไขข้อขัดแย้ง กรณี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายจ้าง มีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับการทำงาน ซึ่งสหภาพแรงงานฯ เห็นว่าไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ร่วมปรึกษาหารือกับท่านและพนักงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 10 มีนาคม2564 โดยท่านมีประเด็นสอบถามเกี่ยวกับสถานะของพนักงานและสภาพการจ้างที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปสืบเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานขอชี้แจงว่า แม้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)พ้นจากการเป็น”รัฐวิสาหกิจ”ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543แล้วก็ตาม แต่ยังคงเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติแรงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงาน พ.ศ. 2541 สัญญาจ้าง เงื่อนไขการทำงานรวมถึงสภาพการจ้างของพนักงานที่มีอยู่เช่นใดก็ยังคงมีผลผูกพันพนักงานกับบริษัท ฯ

อย่างไรก็ตาม หากบริษัท ฯ มีความจำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานบางส่วนโดยลดจำนวนพนักงาน หรือยุบเลิกหน่วยงานเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯซึ่งไม่เป็นคุณต่อพนักงาน จะต้องมีการตกลงและได้รับความยินยอมจากพนักงาน นอกจากนี้ หากมีการเลิกจ้างพนักงาน บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง

นายนเรศ ผึ้งแย้ม ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) เปิดเผยว่า พนักงานคนใดต้องการสมัครใจยอม ก็ยอม ใครไม่ยินยอมสมัครใจ สภาพการจ้างและตำแหน่งงานก็ยังได้รับความคุ้มครองตาม พรบ คุ้มครองแรงงานเหมือนเดิมกรณี ตำแหน่งงานหรือหน่วยงานที่พนักงานสังกัดอยู่ถูกยุบ นายจ้างมีหน้าที่ ต้องจัดหาตำแหน่งงานใหม่รองรับในตำแหน่งงานเป็นระดับเดียว และระดับเงินเดือนในเดิม ส่วนกรณี บริษัทเลิกจ้างท่าน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย จ่ายค่าบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า 30วัน จ่ายค่าวันลาพักร้อนคงเหลือสะสมของท่าน และสวัสดิการตั๋วของยังเป็นสวัสดิการตามสภาพการจ้างเดิม

“สหภาพฯ ไม่สามารถชี้นำพนักงานได้ว่า ควรจะยินยอมสมัครใจ หรือไม่สมัครใจยินยอม เพราะเรื่องความสมัครใจ หรือไม่สมัครใจยินยอมเป็นสิทธิส่วนตัว เพื่อนพนักงานแต่ละคนต้องมีเหตุผลในการใช้ดุลพินิจพิจารณา ในการตัดสินใจเลือกที่ต่างกัน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน