ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการประชุม ศปค.สธ. แนวทาง แก้ โควิด หลังเตียงผู้ป่วยหนักเริ่มวิกฤต รองรับได้แค่ 1-2 สัปดาห์ เผยข้อเสนอ ต่อ ศบค.

เมื่อวันที่ 25 เม.ย.64 ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข (ศปค.สธ.) ครั้งที่ 8/2564 เป็นการประชุมเร่งด่วนเนื่องจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงขึ้น

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ กทม. มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เกิดปัญหาด้านการการใช้เตียง ได้ประชุมร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งทางกรุงเทพมหานคร ภาคเอกชน โรงเรียนแพทย์ เพื่อปรับวิธีการควบคุมโรคและกระบวนการบริหารจัดการ ปัญหาสำคัญคือจำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยหนักที่มีข้อจำกัด ซึ่งขณะนี้ยังมีเพียงพอ แต่หากการติดเชื้อยังรุนแรงต่อเนื่องเช่นนี้ เตียงผู้ป่วยหนักจะรองรับได้ 1-2 สัปดาห์จากนี้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง ไปจนถึงไม่มีอาการ ขณะนี้กรมการแพทย์ ออกมาตรการลดเวลาการอยู่ในโรงพยาบาล(รพ.) ให้เหลือ 10 วัน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเตียงที่คล่องขึ้น ขณะที่ ยาฟาวิพิราเวียร์ จากประเทศญี่ปุ่นจะขนส่งถึงประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ (26เม.ย.) จำนวน 2 ล้านเม็ด

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ใน กทม. ตัวเลขยังทรงตัวแต่มีลักษณะฐานที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะต้องติดตาม 1-2 วันถัดจากนี้ ทั้งนี้ สธ. ได้พิจารณาเสนอมาตรการต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19(ศบค.) เพื่อพิจารณาประกาศใช้มาตรการ 14 วัน คือ

1.ปรับระดับสีจังหวัด จากเดิม 2 สีให้เพิ่มเป็น 3 พื้นที่ คือ สีแดงเข้ม ให้เป็นจังหวัดควบคุมสูงสุดเป็นกรณีพิเศษ สีแดง และสีส้มที่มีจำนวนไม่มาก เนื่องจากจังหวัดส่วนใหญ่จะให้กลายเป็นพื้นที่สีแดงเข้มและสีแดง

2.ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปรับมาตรการในระดับจังหวัด รูปแบบทาร์เก็ตล็อกดาวน์ (Target Lock down) ซึ่งเป็นการปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อการรวมตัวของคนจำนวนมาก โดยทางจังหวัดจะต้องพิจารณาข้อกำหนดต่างๆ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน