อธิบดีกรมการแพทย์ เผย ผลชันสูตรเบื้องต้น ลุงป่วยโควิด รักษา 10 วันออกจากฮอสปิเทล เสียชีวิตฉับพลันหน้าบ้าน แจงขั้นตอนก่อนปล่อยตัวกลับ

วันที่ 9 พ.ค.2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยโควิดอายุ 62 ปี กลับออกจากฮอสปิเทลหลังรักษาตัว 10 วัน โดยสารรถแท็กซี่และมาเสียชีวิตหน้าบ้าน ว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตด้วย ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยโควิด 19 กำหนดให้ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือ ในสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วันนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อหรือนับจากวันที่เริ่มมีอาการ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งคนไข้คนดังกล่าวมารับการรักษาพยาบาลในฮอสปิเทลที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติดูแล ยืนยันว่าเป็นการรักษาตามมาตรฐาน โดยเมื่อทราบว่าผู้ป่วยติดเชื้อ สถาบันมะเร็งได้จัดรถไปรับมาดูแลที่โรงพยาบาล ตลอดการรักษาพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เอกซ์เรย์ปอดปกติ เพื่อนที่ห้องพักเดียวกันก็เห็นว่า คนไข้แข็งแรงดี ตอนกลับมีการร่ำลาเพื่อนร่วมห้องที่พักในห้องเดียวกัน ทางสถาบันมะเร็งถามย้ำแล้วว่า ให้แจ้งญาติมารับหรือไม่ แต่คนไข้ยืนยันกลับบ้านเอง

“ตามปกติของคนไข้ป่วยโควิดจะไม่มีทางที่จะมีอาการเฉียบพลัน หรือ ทรุดลงโดยไม่มีสาเหตุ เบื้องต้นทราบว่า ได้มีการส่งร่างคนไข้ดังกล่าวให้สถาบันนิติเวชตรวจชันสูตรแล้ว และทราบว่า การเสียชีวิตน่าจะเกี่ยวกับโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด” นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดทุกคน ปฏิบัติตามแนวทางเวชปฏิบัติที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนด ทั้งการวินิจฉัย ดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งในผู้ป่วยรายนี้ทำตามหลักเกณฑ์ คือ อยู่กระบวนการรักษาจนครบ ซึ่งรายนี้ทราบผลว่าติดเชื้อ ได้ถูกรับมารักษาพยาบาลหลังจากทราบผลไปแล้ว 3 วัน และอยู่โรงพยาบาลรวม 11 วัน เท่ากับครบ 14 วันพอดี

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 แบ่งออกเป็น 4 กรณี ได้แก่ 1.ผู้ติดเชื้อโควิดไม่มีอาการ ให้นอนโรงพยาบาล หรือสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ตรวจพบเชื้อและให้จำหน่ายจากโรงพยาบาลได้ แต่หากมีอาการปรากฏขึ้นมาให้ตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ ดูแลรักษาตามดุลพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เองและอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา

2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ให้ดูแลรักษาตามอาการ ส่วนมากหายได้เอง แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง พิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยได้พิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ตามดุลพินิจของแพทย์

3.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้น โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก.) ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น แนะนำให้นอนโรงพยาบาล อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น แนะนำให้ฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด ให้ยานาน 5 วัน หรือ มากกว่า ขึ้นกับอาการทางคลินิกตามความเหมาะสม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวม หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน แนะนำให้ฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิกอาจพิจารณา

ส่วนเกณฑ์การพิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นและภาพรังสีปอดไม่แย่ลง ,อุณหภูมิไม่เกิน 37.8’C ต่อเนื่อง 24 ถึง 48 ชั่วโมง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน